แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องโดยอ้างบทห้ามกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 มาด้วย เท่ากับโจทก์อ้างบทห้ามการกระทำความผิดตามมาตรา 43 (4) อยู่ในตัวแล้ว โจทก์หาจำต้องระบุอนุมาตรา (4) ของมาตรา 43 มาในคำขอท้ายฟ้องด้วยไม่ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะต้องพิพากษาปรับบทความผิดในมาตรานั้นๆ ให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4) จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
ย่อยาว
คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2617/2545 แต่ดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคงขึ้นมาสู่ศาลีกาเฉพาะคดีดังนี้
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2544 เวลากลางวันจำเลยขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กกธ ชลบุรี 413 ไปตามถนนตำหนักน้ำจากแยกเทศบาลเมืองชลบุรีโฉมหน้าไปทางที่ว่าการอำเภอเมืองชลบุรี ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ กล่าวคือ เมื่อจำเลยขับรถจักรยานยนต์ดังกล่าวไปถึงบริเวณสี่แยกถนนพระยาสัจจาตัดกับถนนตำหนักน้ำ จำเลยต้องหยุดรถเพื่อดูว่ามีรถในถนนพระยาสัจจาซึ่งเป็นทางเอกแล่นมาจากทางด้านขวาและด้านซ้ายของจำเลยหรือไม่ เมื่อไม่มีรถแล่นมาจำเลยจึงจะขับรถตัดข้ามถนนพระยาสัจจาไปยังที่ว่าการอำเภอเมืองชลบุรี ซึ่งจำเลยสามารถใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่จำเลยหาได้ใช้ความระมัดระวังไม่ จำเลยกลับขับรถจักรยานยนต์ดังกล่าวออกไปทันทีโดยไม่ดูให้ดีว่ามีรถยนต์แล่นมาทางด้านซ้ายหรือไม่ ในขณะเดียวกันนายคำมูลขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บร 8565 ชลบุรี มาตามถนนพระยาสัจจาจากหน้าศาลแขวงชลบุรีโฉมหน้าไปทางเมืองใหม่ ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังเช่นเดียวกัน โดยขับรถเร็วในเขตชุมนุมชนไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่นซึ่งนายคำมูลเห็นอยู่แล้วว่าในทางแยกถนนพระยาสัจจาตัดกับถนนตำหนักน้ำทางด้านซ้ายมีจำเลยขับรถจักรยานยนต์ออกมาซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุได้ และนายคำมูลสามารถชะลอความเร็วหรือหยุดรถเพื่อให้เกิดความปลอดภัยไม่เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ของจำเลยได้ แต่หาได้กระทำไม่ เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันและทำให้รถยนต์กระบะดังกล่าวของนายเอกรัตน์ ที่นายคำมูลเป็นผู้ขับได้รับความเสียหายขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4) เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 อนุมาตรา (1) ถึง (8) แต่ละอนุมาตรามีลักษณะความผิดต่างกันโจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 โดยไม่ได้ระบุอนุมาตรา (4) จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามอนุมาตรา (4) เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4) จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) บัญญัติว่า คำฟ้องจะต้องอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องมาแจ้งชัดว่าจำเลยขับรถยนต์โดยประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์กระบะของนายเอกรัตน์ที่นายคำมูลเป็นผู้ขับได้รับความเสียหาย และอ้างบทห้ามกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 มาด้วย ซึ่งเท่ากับโจทก์อ้างบทห้ามการกระทำความผิดตามมาตรา 43 (4) อยู่ในตัวแล้ว โจทก์หาจำต้องระบุอนุมาตรา (4) ของมาตรา 43 มาในคำขอท้ายฟ้องด้วยไม่ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะต้องพิพาทษาปรับบทความผิดในมาตรานั้นๆ ให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4) จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ”
พิพากษายืน