คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6636/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ซองกระสุนปืนเป็นอาวุธปืนตามความหมายแห่ง พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4 (1) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2491) ออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ข้อ 1 แม้ซองกระสุนปืนของกลางสามารถใช้ร่วมกับอาวุธปืนของกลางที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้ก็ตาม หากเป็นซองกระสุนที่สามารถบรรจุกระสุนได้เกินกว่า 10 นัด แล้วก็เป็นซองกระสุนปืนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2491) ออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ข้อ 2 (12) จำเลยจึงมีความผิดฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง และซองกระสุนปืนของกลางเป็นทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดมีไว้เป็นความผิด จึงให้ริบตาม ป.อ. มาตรา 32

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 55, 72, 72 ทวิ, 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91, 371 ริบซองกระสุนปืนของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 วรรคหนึ่ง, 55, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง, 78 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครอง จำคุก 1 ปี ฐานมีอาวุธปืน (ซองกระสุนปืน) ที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครอง จำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี ริบซองกระสุนปืนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับบทความผิดฐานพาอาวุธปืน ฯ ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสอง ฐานมีอาวุธปืน ฯ จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืน ฯ จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน ยกฟ้องข้อหาตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง ไม่ริบซองกระสุนปืนของกลางและให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยมีความผิดฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครองหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ซองกระสุนปืนของกลางเป็นชนิดบรรจุกระสุนได้ 13 นัด ซึ่งตามกฎกระทรวงฉบับที่ 3 (พ.ศ.2491) ข้อ 1 (4) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2491 กำหนดให้ซองกระสุนที่สามารถบรรจุกระสุนได้เกินกว่า 10 นัด เป็นอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตสำหรับให้ทำหรือสั่งหรือนำเข้าเพื่อการค้าหรือเพื่อใช้ส่วนตัว ซองกระสุนปืนของกลางจึงเป็นอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้มีและใช้ได้ตามกฎหมายและเป็นทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิดพึงริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ส่วนจำเลยยื่นคำแก้ฎีกาว่า ซองกระสุนปืนของกลางออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ และสามารถใช้ร่วมกับอาวุธปืนของกลางได้ย่อมเป็นซองกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้เช่นกันนั้น เห็นว่า กฎกระทรวงฉบับที่ 3 (พ.ศ.2491) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ข้อ 1 ระบุว่า ส่วนของอาวุธปืนซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็น “อาวุธปืน” ตามความในมาตรา 4 (1) คือ (4) เครื่องส่งกระสุน ซองกระสุน หรือส่วนประกอบสำคัญของสิ่งเหล่านี้ และข้อ 2 ระบุว่าห้ามมิให้ออกใบอนุญาตสำหรับให้ทำหรือสั่งหรือนำเข้าซึ่งอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนสำหรับอาวุธปืนดังต่อไปนี้เพื่อการค้าหรือเพื่อใช้ส่วนตัว คือ (12) ซองกระสุนที่สามารถบรรจุกระสุนได้เกินกว่า 10 นัด ดังนั้น ซองกระสุนเป็นของกลางจึงเป็นอาวุธปืนตามความหมายของพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4 (1) แม้ซองกระสุนปืนของกลางสามารถใช้ร่วมกับอาวุธปืนของกลางที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้ก็ตาม หากเป็นซองกระสุนที่สามารถบรรจุกระสุนได้เกินกว่า 10 นัด แล้วก็เป็นซองกระสุนปืนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ตามกฎกระทรวงดังกล่าวข้อ 2 (12) ข้ออ้างตามคำแก้ฎีกาของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น จำเลยจึงมีความผิดฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง และซองกระสุนปืนของกลางเป็นทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดมีไว้เป็นความผิด จึงให้ริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share