คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9072/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ธุรกิจการค้าของโจทก์ต้องอาศัยการแข่งขัน ข้อมูลความรู้ความลับทางการค้าเกี่ยวกับสินค้าของโจทก์ตามสมควร โจทก์จึงมีสิทธิที่จะป้องกันสงวนรักษาข้อมูลและความลับในทางการค้าเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของโจทก์ได้ ทั้งข้อตกลงตามสัญญาจ้างทำงานก็มีกำหนดเวลาห้ามจำเลยอยู่ 2 ปี อันถือได้ว่าเป็นกำหนดเวลาพอสมควร สัญญาจ้างทำงานดังกล่าว จึงหาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่
ข้อความในสัญญาที่ว่าจำเลยจะไม่ทำงานรับจ้างหรือให้ข้อมูลของโจทก์แก่ผู้ประกอบการรายอื่น ซึ่งมีลักษณะธุรกิจแบบเดียวกับโจทก์ภายในกำหนด 2 ปี นับจากวันเลิกจ้าง หากผิดสัญญายอมให้ปรับ 200,000 บาท นั้น ย่อมเป็นข้อสัญญาที่มีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายจากการผิดสัญญาไว้ล่วงหน้าจึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 เบี้ยปรับเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย ถ้าสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงได้โดยคำนึงถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้หรือโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 การที่ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงจึงชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าปรับและค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และห้ามจำเลยทำงานหรือกระทำการอันเป็นการแข่งขันในทางการค้ากับโจทก์เป็นเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2544 จำเลยได้เข้าทำงานกับโจทก์ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายซูเปอร์มาร์เก็ตได้รับค่าจ้างเดือนละ 40,000 บาท ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.4 และในข้อ 5.2 มีข้อตกลงว่าจำเลยจะไม่ไปทำงานรับจ้างหรือให้ข้อมูลของโจทก์กับผู้ประกอบการรายอื่นซึ่งมีลักษณะธุรกิจแบบเดียวกับโจทก์มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันเลิกจ้าง หากจำเลยผิดสัญญายอมให้ปรับ 200,000 บาท ต่อมาวันที่ 10 สิงหาคม 2545 จำเลยลาออกตามใบลาออกเอกสารหมาย จ.5 แล้วจำเลยเข้าทำงานที่บริษัทศิริมหาชัยโฮมเซ็นเตอร์หรือบริษัทยูนิตี้โฮม จำกัด ซึ่งมีลักษณะธุรกิจเดียวกับโจทก์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 ซึ่งอยู่ในระยะเวลา 2 ปี นับแต่เลิกจ้าง ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า สัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 ที่มีข้อตกลงว่าจำเลยจะไม่ไปทำงานรับจ้างกับผู้ประกอบการรายอื่นซึ่งมีลักษณะธุรกิจแบบเดียวกับโจทก์มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันเลิกจ้าง หากจำเลยผิดสัญญายอมให้ปรับ 200,000 บาท นั้น ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนเป็นโมฆะ เพราะรักษาผลประโยชน์ของโจทก์ฝ่ายเดียวเกินสมควร ปิดทางทำมาหาได้ของจำเลยอย่างเด็ดขาด จำเลยไม่อาจประกอบอาชีพอย่างเดียวกับโจทก์จนไม่อาจดำรงตนอยู่ได้ เห็นว่า ธุรกิจการค้าของโจทก์ต้องอาศัยการแข่งขัน ข้อมูลความรู้ความลับทางการค้าเกี่ยวกับสินค้าของโจทก์ตามสมควร ฉะนั้น โจทก์จึงมีสิทธิตามควรที่จะป้องกันสงวนรักษาข้อมูลและความลับในทางการค้าเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของโจทก์ได้ทั้งข้อสัญญาดังกล่าวก็มีกำหนดเวลาห้ามจำเลยอยู่ 2 ปี อันถือได้ว่าเป็นกำหนดเวลาพอสมควร สัญญาจ้างทำงานตามเอกสารหมาย จ.4 จึงหาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ข้อตกลงในสัญญาจ้างทำงานตามเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 5.2 ที่มีข้อความว่า หากจำเลยฝ่าฝืนจะถูกปรับเป็นเงินจำนวนหนึ่งไม่ใช่เบี้ยปรับดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย แต่เป็นข้อสัญญาที่ชัดแจ้งต้องบังคับกันตามที่ตกลงไว้นั้น เห็นว่า ข้อความในสัญญาที่ว่าจำเลยจะไม่ทำงานรับจ้างหรือให้ข้อมูลของโจทก์แก่ผู้ประกอบการรายอื่น ซึ่งมีลักษณะธุรกิจแบบเดียวกับโจทก์ภายในกำหนด 2 ปี นับจากวันเลิกจ้าง หากผิดสัญญายอมให้ปรับ 200,000 บาท นั้น ย่อมเป็นข้อสัญญาที่มีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายจากการผิดสัญญาไว้ล่วงหน้า จึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 เบี้ยปรับเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย ถ้าสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงได้โดยคำนึงถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้หรือโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 การที่ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงจึงชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share