คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9189/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ผู้คัดค้านและผู้ตายได้ทำพิธีจัดงานสมรสเป็นที่รู้กันในหมู่ญาติทั้งสองฝ่ายและบุคคลทั่วไป จากนั้นผู้ตายได้แยกจากครอบครัวมาอยู่กินฉันสามีภริยาตามลำพังกับผู้คัดค้านที่บ้านบนที่ดินราชพัสดุที่ผู้ร้องโอนให้ โดยผู้ร้องได้ยกให้ผู้ตายกับผู้คัดค้านอยู่ร่วมกัน ผู้ตายและผู้คัดค้านต่างมีอาชีพของตนเป็นกิจจะลักษณะ ได้อยู่ร่วมกันตลอดมาจนผู้ตายถึงแก่ความตาย ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างเป็นสามีภริยากันย่อมถือว่าเป็นทรัพย์สินทำมาหาได้ร่วมกัน ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียอยู่ในทรัพย์ของผู้ตายและชอบที่จะร้องขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคหนึ่ง โดยคำว่า “ผู้มีส่วนได้เสีย” ในบทบัญญัตินี้หาจำต้องเป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิหรือมีส่วนรับมรดกด้วยไม่ เมื่อผู้คัดค้านและผู้ตายอยู่กินทำมาหาได้ด้วยกันตามลำพังสองคนโดยไม่มีญาติผู้ใดหรือแม้แต่ผู้ร้องเข้าเกี่ยวข้องรู้เห็นการบริหารครอบครัวของคนทั้งสอง ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้เดียวที่รู้เรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ตายเป็นอย่างดีจึงย่อมสามารถรวบรวมทรัพย์มรดกของผู้ตายได้ดีกว่าผู้อื่น ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งตั้งให้ผู้คัดค้านร่วมเป็นผู้จัดการมรดกด้วยนั้นชอบแล้ว

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายพิชัย สุริยาอัมพร เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2541 นายพิชัยถึงแก่กรรมด้วยสาเหตุขาดอากาศหายใจ ก่อนถึงแก่กรรมผู้ตายมีทรัพย์สินเป็นเงินฝากที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขานครปฐม บัญชีเลขที่ 519-1-10622-2 ผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมหรือตั้งผู้จัดการมรดกไว้ ผู้ตายมีภริยาชื่อนางสุปราณี สนิทม่วง โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสและไม่มีบุตรด้วยกัน ผู้ร้องเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ประสงค์จะให้นายนิพนธ์ สุริยาอัมพร เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แต่การจัดการมรดกมีเหตุขัดข้อง นายนิพนธ์มิได้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดกตามกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งนายนิพนธ์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นภริยาของนายพิชัย สุริยาอัมพร ผู้ตาย โดยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน ผู้คัดค้านและผู้ตายมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในเงินรับไหว้เงินช่วยการสมรส เงินสินสอด และเงินที่บิดามารดาผู้ตายยกให้แก่ผู้คัดค้านและผู้ตายผู้คัดค้านมิได้เป็นบุคคลห้ามตามกฎหมายในการเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วม
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งตั้งนายนิพนธ์ สุริยาอัมพร และผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนายพิชัย สุริยาอัมพร ผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1711 ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้ร้องและผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน และให้ยกอุทธรณ์ของผู้คัดค้าน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งคัดค้านว่าผู้ร้องเป็นมารดาของนายพิชัย สุริยาอัมพร ผู้ตาย นายนิพนธ์ สุริยาอัมพร เป็นพี่ชายร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตาย ผู้คัดค้านเป็นภริยาของผู้ตาย โดยมิได้จดทะเบียนสมรส ไม่มีบุตรด้วยกัน ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2541 โดยมิได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใด ผู้ตายมีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขานครปฐม และมีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากร่วมกับผู้คัดค้านที่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขานครปฐม มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ และสมควรตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับนายนิพนธ์ สุริยาอัมพร หรือไม่ ในปัญหาแรกเห็นว่าผู้คัดค้านและผู้ตายได้ทำพิธีจัดงานสมรสเป็นที่รู้กันในหมู่ญาติทั้งสองฝ่ายและบุคคลทั่วไป จากนั้นผู้ตายได้แยกจากครอบครัวมาอยู่กินฉันสามีภริยาตามลำพังกับผู้คัดค้านที่บ้านบนที่ดินราชพัสดุที่ผู้ร้องโอนให้ โดยผู้ร้องได้ยกให้ผู้ตายกับผู้คัดค้านอยู่ร่วมกัน ผู้ตายและผู้คัดค้านต่างมีอาชีพของตนเป็นกิจจะลักษณะ ได้อยู่กินร่วมกันตลอดมาจนผู้ตายถึงแก่ความตาย ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างเป็นสามีภริยากันย่อมถือว่าเป็นทรัพย์สินทำมาหาได้ร่วมกัน ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียอยู่ในทรัพย์ของผู้ตาย และชอบที่จะร้องขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคหนึ่ง โดยคำว่า “ผู้มีส่วนได้เสีย” ในบทบัญญัตินี้หาจำต้องเป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิหรือมีส่วนรับมรดกด้วยไม่ ส่วนปัญหาต่อไปว่าสมควรตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับนายนิพนธ์ สุริยาอัมพร พี่ชายผู้ตายหรือไม่ เห็นว่า ผู้คัดค้านและผู้ตายอยู่กินทำมาหาได้ด้วยกันตามลำพังสองคน โดยไม่มีญาติผู้ใดหรือแม้แต่ผู้ร้องหรือนายนิพนธ์เข้าเกี่ยวข้องรู้เห็นการบริหารครอบครัวของคนทั้งสอง ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้เดียวที่รู้เรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ตายเป็นอย่างดี จึงย่อมสามารถรวบรวมทรัพย์มรดกของผู้ตายได้ดีกว่าผู้อื่น ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งตั้งให้ผู้คัดค้านร่วมเป็นผู้จัดการมรดกด้วยนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share