แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นผู้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินตาม น.ส.3 ก. โดยอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 3 เมื่อปรากฏว่าที่ดินแปลงดังกล่าวไม่ใช่ของจำเลยที่ 3 เนื่องจาก น.ส.3 ก. ดังกล่าวออกทับที่ดินของบุคคลอื่น และศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาส่วนนี้จึงต้องเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง และตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. ทั้งไม่มีบทบัญญัติยกเว้นความรับผิดชำระค่าธรรมเนียมในกรณีที่ผู้ขอยึดทำการโดยสุจริต ซึ่งความรับผิดในค่าธรรมเนียมนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้เป็นดุลพินิจของศาลที่จะกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดเสียค่าฤชาธรรมเนียมได้ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี เรื่องนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องระมัดระวังในการรับจำนองที่ดินและนำยึดที่ดินว่าเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ เพราะโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีก็มีคำสั่งไปตามคำขอของโจทก์ ดังนั้น จึงสมควรให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขาย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย แต่จำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 232 ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นทรัพย์จำนองขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องไปในราคา 8,290,000 บาท ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินดังกล่าวได้ออกทับตราจองเลขที่ 2058 ถึง 2078 และโฉนดที่ดินเลขที่ 1803 ตำบลหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของบุคคลอื่นมิใช่ของจำเลยที่ 3 มาขายทอดตลาด การขายทอดตลาดจึงไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและคืนเงินมัดจำแก่ผู้ร้อง ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับให้เพิกถอนการขายทอดตลาด และคืนเงินมัดจำจำนวน 414,500 บาท แก่ผู้ร้อง คดีถึงที่สุด เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีคำสั่งให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายเป็นเงินจำนวน 289,247 บาท
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี
เจ้าพนักงานบังคับคดีและจำเลยที่ 3 ไม่ยื่นคำคัดค้าน
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณียึดแล้วไม่มีการขายในอัตราร้อยละ 3.5 ของจำนวนเงินที่โจทก์ชนะคดีในศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์นำเจ้าพนักงานยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 232 ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของและจดทะเบียนจำนองไว้กับโจทก์ ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าว ผู้ร้องซื้อได้ในราคา 8,290,000 บาท ปรากฏว่า น.ส.3 ก. ดังกล่าวออกทับที่ดินผู้อื่น ที่ดินที่ยึดและขายทอดตลาดดังกล่าวจึงไม่ใช่ของจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาด คดีถึงที่สุด เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขาย คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ต้องชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นผู้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 232 โดยอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 3 เมื่อปรากฏว่าที่ดินแปลงดังกล่าวไม่ใช่ของจำเลยที่ 3 จนศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและคดีถึงที่สุด ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาส่วนนี้จึงต้องเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 วรรคหนึ่ง และตาราง 5 ข้อ 3 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เป็นผู้ขอยึดโดยสุจริตนั้นไม่มีบทกฎหมายบัญญัติยกเว้นไว้ว่าไม่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าว และที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยทั้งสามต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 หากให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวแล้วจะไม่เป็นธรรมแก่โจทก์นั้น เห็นว่า ตามมาตรา 161 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เป็นดุลพินิจของศาลที่จะกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดเสียค่าฤชาธรรมเนียมก็ได้ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี เรื่องนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องระมัดระวังในการรับจำนองที่ดินและนำยึดที่ดินว่าเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ เพราะโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีก็มีคำสั่งไปตามคำขอของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน