แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตามสัญญาอนุญาตให้สร้างภาพยนตร์ซึ่งเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์กำหนดว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 2 นำนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ ซึ่งเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ 35 มิลลิเมตร ได้ 1 ครั้ง เพื่อจัดฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศภายใน 7 ปี ดังนี้ แม้จำเลยร่วมที่ 2 จะสร้างภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์โดยได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายดังกล่าวตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ อันเป็นการนำเอางานอันมีลิขสิทธิ์มาดัดแปลงและจำเลยร่วมที่ 2 มีลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ที่ดัดแปลงขึ้นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 9 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ แต่สิทธิในลิขสิทธิ์สำหรับงานภาพยนตร์ดังกล่าวของจำเลยร่วมที่ 2 ที่ได้มาตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ดังกล่าวมีจำกัดอยู่เพียงสิทธิในการโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งภาพยนตร์นั้นด้วยการฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศภายใน 7 ปี เท่านั้น จำเลยร่วมที่ 2 ไม่มีสิทธิในการทำซ้ำหรือดัดแปลง นำออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งภาพยนตร์นั้นด้วยวิธีอื่น ไม่อาจให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานภาพยนตร์นั้น หรือให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์ในงานยนตร์นั้นแก่ผู้อื่นได้ ตลอดจนไม่อาจอนุญาตให้ผู้อื่นทำซ้ำหรือดัดแปลงนำออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานภาพยนตร์นั้น หรือไม่อาจอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในการให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานภาพยนตร์นั้นตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 13 และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 (ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2537) มาตรา 15 ได้ การที่จำเลยร่วมที่ 2 นำภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ที่ตนสร้างขึ้นไปบันทึกเป็นวิดีโอเทปในรูปของงานโสตทัศนวัสดุหรือภาพยนตร์ แล้วนำวิดีโอนั้นออกจำหน่ายและให้เช่า จึงเป็นการทำซ้ำงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์อันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งมีอยู่ในภาพยนตร์นั้น โดยไม่มีสิทธิที่จะทำได้ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ และไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนั้น การกระทำดังกล่าวของจำเลยร่วมที่ 2 ย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ของโจทก์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 24 (1) หรือ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1)
เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะอนุญาตให้ผู้อื่นนำภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ซึ่งมีงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดังกล่าวอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์รวมอยู่ด้วยไปทำซ้ำโดยวิธีอื่น ซึ่งรวมถึงการบันทึกเป็นม้วนวิดีโอเทปภาพยนตร์ได้ การที่จำเลยร่วมที่ 1 แม้ว่าจะได้รับอนุญาตจากจำเลยร่วมที่ 2 ให้นำภาพยนตร์ดังกล่าวที่จำเลยร่วมที่ 2 สร้างขึ้นไปบันทึกเป็นวิดีโอเทปและนำออกจำหน่ายตามสัญญาที่ทำกับจำเลยร่วมที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิที่จะทำซ้ำงานภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นวิดีโอเทปภาพยนตร์และนำม้วนวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่ายได้รวมทั้งอนุญาตให้บริษัทจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 นำม้วนมาสเตอร์เทปภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวไปผลิตเป็นวิดีโอเทปออกจำหน่ายได้เช่นกัน
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 ได้บัญญัติให้ความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดี แต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่าคู่ความฝ่ายใดจะชนะคดีเต็มตามข้อหาหรือแต่บางส่วน ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีนั้นเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง หรือให้คู่ความแต่ละฝ่ายเสียค่าฤชาธรรมเนียมส่วนของตนหรือตามส่วนแห่งค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายได้เสียไปก็ได้ ตามที่ศาลจะใช้ดุลพินิจ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง ซึ่งเห็นได้ว่าการสั่งให้คู่ความฝ่ายใดรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมจำนวนมากน้อยเพียงใด เป็นดุลพินิจของศาล มีเพียงดุลพินิจในการสั่งเกี่ยวกับค่าทนายความซึ่งเป็นค่าฤชาธรรมเนียมอย่างหนึ่งเท่านั้นที่ต้องเป็นไปตามอัตราค่าทนายความในตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ. ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยอื่นใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยไม่ได้แยกให้จำเลยแต่ละคนชดใช้เท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยแต่ละคนต้องชดใช้แก่โจทก์ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในบทประพันธ์นวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์จำเลยทั้งสามร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ โดยนำบทประพันธ์ของโจทก์ได้ดัดแปลงหรือทำซ้ำเป็นรถยนตร์บันทึกลงในแถบบันทึกภาพและเสียง (วิดีโอเทป) นำออกจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ได้ซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ไทยเรื่องดาวพระศุกร์จากบริษัทเอส.ที วีดีโอ จำกัด เจ้าของลิขสิทธิ์แล้วจึงมีสิทธิทำซ้ำและนำออกจำหน่ายได้และไม่ได้ดัดแปลงจากบทประพันธ์เดิม จึงไม่เป็นการละเมิดเจ้าของลิขสิทธิ์ในบทประพันธ์เดิม โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายคำฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทเอส.ที. วีดีโอ จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วมที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต และจำเลยร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายสุรินทร์ ชะอุ่มพานิช เข้ามาเป็นจำเลยร่วมที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมที่ 1 ให้การว่า จำเลยร่วมที่ 1 ได้ซื้อลิขสิทธิ์มาจากจำเลยร่วมที่ 2 มาโดยชอบ จึงมีสิทธิทำเป็นแถบบันทึกภาพและเสียง และนำออกจำหน่ายได้ จึงไม่เป็นละเมิด โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยร่วมที่ 2 ให้การว่า โจทก์ได้ขายและอนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 2 นำบทประพันธ์เรื่องดาวพระศุกร์มาสร้างเป็นภาพยนตร์ได้โดยมีกำหนดระยะเวลา 7 ปี จำเลยร่วมที่ 2 จ่ายค่าตอบแทนให้โจทก์จำนวน 50,000 บาท จำเลยร่วมที่ 2 จึงมีลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ไทยเรื่องดาวพระศุกร์และมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวสามารถนำไปแสวงหาประโยชน์ได้ มิได้เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายตามคำฟ้อง สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสามและจำเลยร่วมทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้คนละ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 100,000 บาท จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 ใช้เงินจำนวน 100,000 บาท จำเลยร่วมที่ 1 ใช้เงินจำนวน 200,000 บาท และจำเลยร่วมที่ 2 ใช้เงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนตามลำดับนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ สำหรับค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถานั้น ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 นำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และจำเลยร่วมที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นตามที่โจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และจำเลยร่วมที่ 2 ไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ได้อนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 2 นำนวนิยายเรื่องดังกล่าวไปสร้างเป็นภาพยนตร์ 35 มิลลิเมตร ได้ 1 ครั้ง เพื่อจัดฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศภายใน 7 ปี จำเลยร่วมที่ 2 ได้นำนวนิยายเรื่องดังกล่าวไปสร้างเป็นภาพยนตร์แล้วนำออกฉายตามโรงภาพยนตร์ จากนั้นจำเลยร่วมที่ 2 นำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวไปบันทึกเป็นวิดีโอเทป แล้วนำวีดีโอเทปนั้นออกจำหน่ายและให้เช่า นอกจากนี้จำเลยร่วมที่ 2 ได้ทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 1 นำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวไปบันทึกเป็นวิดีโอเทปแล้วนำม้วนวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่ายตามหนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ไทยเพื่อบันทึกเป็นเทปบันทึกภาพและเสียง (วิดีโอเทป) ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2537 (ที่ถูกเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ) ต่อมาจำเลยร่วมที่ 1 ได้อนุญาตให้จำเลยที่ 2 นำม้วนมาสเตอร์เทปภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวไปผลิตเป็นวิดีโอเทปออกจำหน่ายตามหนังสือสัญญาการขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ไทย ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2537 (ที่ถูกเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ) แล้วจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 กรรมการผู้จัดการได้ผลิตวิดีโอเทปภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวออกจำหน่าย ส่วนจำเลยที่ 1 อ้างว่าได้ซื้อลิขสิทธิ์ในนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ไปทำเป็นภาพยนตร์ออกฉายตามโรงภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดังกล่าวของโจทก์ด้วยการดัดแปลงงานวรรณกรรมเป็นงานภาพยนตร์และนำภาพยนตร์ที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ และจำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ค่าเสียหายสำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เป็นเงิน 100,000 บาท แก่โจทก์ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมที่ 2 ว่า การที่จำเลยร่วมที่ 2 นำภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ที่ตนสร้างขึ้นไปบันทึกเป็นวิดีโอเทปและนำวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่ายและให้เช่า แล้วจึงทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 1 นำภาพยนตร์ดังกล่าวไปบันทึกเป็นวิดีโอเทปและนำม้วนวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่ายตามหนังสือสัญญาลงวันที่ 24 มิถุนายน 2547 เป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ของโจทก์หรือไม่ จำเลยร่วมที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ได้อนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 2 นำนวนิยายเรื่องดังกล่าวไปสร้างเป็นภาพยนตร์โดยไม่มีข้อห้ามมิให้นำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวไปบันทึกเป็นวิดีโอเทป การสร้างเป็นภาพยนตร์เป็นการดัดแปลงงานวรรณกรรม จำเลยร่วมที่ 2 จึงมีลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ที่ได้ดัดแปลงขึ้นนั้น จำเลยร่วมที่ 2 ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆ กับงานภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ได้ การที่จำเลยร่วมที่ 2 นำภาพยนตร์ดังกล่าวไปบันทึกเป็นวิดีโอเทปแล้วนำวิดีโอเทปนั้นออกขายและให้เช่า กับทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 1 นำภาพยนตร์ดังกล่าวไปบันทึกเป็นวิดีโอเทป แล้วนำม้วนวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่ายจึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ของโจทก์ เห็นว่า ปรากฏตามสัญญาอนุญาตให้สร้างภาพยนตร์ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 ซึ่งเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ว่า โจทก์ได้อนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 2 นำนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ซึ่งเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ 35 มิลลิเมตร ได้ 1 ครั้ง เพื่อจัดฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศภายใน 7 ปี ดังนี้ แม้จำเลยร่วมที่ 2 จะสร้างภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์โดยได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดังกล่าวตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์อันเป็นการนำเอางานอันมีลิขสิทธิ์มาดัดแปลง และจำเลยร่วมที่ 2 มีลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ที่ได้ดัดแปลงขึ้นตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 9 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ก็ตาม แต่สิทธิในลิขสิทธิ์สำหรับงานภาพยนตร์ดังกล่าวของจำเลยร่วมที่ 2 ที่ได้มาตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์มีจำกัดอยู่เพียงสิทธิในการโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งภาพยนตร์นั้นด้วยการฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศภายใน 7 ปี เท่านั้น จำเลยร่วมที่ 2 ไม่มีสิทธิในการทำซ้ำหรือดัดแปลง นำออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งภาพยนตร์นั้นด้วยวิธีอื่น ไม่อาจให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานภาพยนตร์นั้น หรือให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์นั้นแก่ผู้อื่นได้ ตลอดจนไม่อาจอนุญาตให้ผู้อื่นทำซ้ำหรือดัดแปลง นำออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานภาพยนตร์นั้น หรือไม่อาจอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในการให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานภาพยนตร์นั้นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 13 และพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 (ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2538) มาตรา 15 ได้ ดังนี้ การที่จำเลยร่วมที่ 2 นำภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ที่ตนสร้างขึ้น ไปบันทึกเป็นวิดีโอเทปในรูปของงานโสตทัศนวัสดุหรือภาพยนตร์ แล้วนำวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่ายและให้เช่า จึงเป็นการทำซ้ำงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ อันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งมีอยู่ในภาพยนตร์นั้น โดยไม่มีสิทธิที่จะทำได้ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ และโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนั้น การกระทำดังกล่าวของจำเลยร่วมที่ 2 ย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ของโจทก์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 24 (1) หรือพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) ส่วนวิดีโอเทปที่จำเลยร่วมที่ 2 ทำซ้ำขึ้นแล้วนำออกจำหน่ายและให้เช่านั้น เป็นสิ่งที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าวิดีโอเทปนั้นตนได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ยังนำออกจำหน่ายและให้เช่าเพื่อหากำไร การกระทำในส่วนนี้ของจำเลยร่วมที่ 2 ยังเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 27 (1) หรือพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) อีกด้วย จำเลยร่วมที่ 2 จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายสำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวต่อโจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา จำเลยร่วมที่ 2 หาอาจอ้างว่าสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์มิได้มีข้อห้ามมิให้นำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวไปบันทึกวิดีโอเทป จำเลยร่วมที่ 2 จึงมีสิทธิทำเช่นนั้นได้ไม่ เพราะโจทก์อนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 2 นำนวนิยายอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ 35 มิลลิเมตร ได้เพียง 1 ครั้ง เพื่อจัดฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศภายใน 7 ปี เท่านั้น มิได้อนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 2 นำภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นอันมีงานวรรณกรรมของโจทก์รวมอยู่ด้วยไปทำซ้ำในรูปของวิดีโอเทปภายใน 7 ปี นับแต่วันทำสัญญาแต่อย่างใด ข้อฎีกาของจำเลยร่วมที่ 2 ในส่วนนี้จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยร่วมที่ 2 ทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 1 นำภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ที่จำเลยร่วมที่ 2 สร้างขึ้นไปบันทึกเป็นวิดีโอเทป แล้วนำม้วนวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่ายตามหนังสือสัญญาลงวันที่ 24 มิถุนายน 2547 นั้น แม้จะมิใช่การทำซ้ำหรือดัดแปลงหรือนำออกโฆษณาซึ่งงานวรรณกรรมของโจทก์ที่อยู่ในภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนั้น อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 24 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นก็ตาม แต่จำเลยร่วมที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิตามสัญญาที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 2 ใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ของโจทก์ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 ที่จะอนุญาตให้ผู้อื่นใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมดังกล่าวของโจทก์ อันเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 13 (4) ได้ เพราะจำเลยร่วมที่ 2 มีสิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ เพียงดัดแปลงงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์โดยสร้างเป็นภาพยนตร์ 35 มิลลิเมตร ได้ 1 ครั้ง เพื่อนำออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานภาพยนตร์นั้น โดยฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศได้ภายใน 7 ปี นันแต่วันทำสัญญา ดังได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้วเท่านั้น การที่จำเลยร่วมที่ 2 ทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 1 นำภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ที่จำเลยร่วมที่ 2 สร้างขึ้นไปบันทึกเป็นวิดีโอเทปแล้วนำม้วนวิดีโอออกจำหน่ายจึงเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยร่วมที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 200,000 บาท แก่โจทก์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาส่วนนี้ของจำเลยร่วมที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า การที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากจำเลยร่วมที่ 2 ให้นำภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ที่จำเลยร่วมที่ 2 สร้างขึ้นไปบันทึกเป็นวิดีโอเทปแล้วนำม้วนวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่าย ตามหนังสือสัญญาลงวันที่ 24 มิถุนายน 2537 แล้วจำเลยร่วมที่ 1 อนุญาตให้บริษัทจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน นำม้วนมาสเตอร์เทปภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวไปผลิตเป็นวิดีโอเทปออกจำหน่ายตามหนังสือสัญญาลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2537 และจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ได้ผลิตวิดีโอเทปภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ออกจำหน่าย เช่นนี้ การกระทำของจำเลยร่วมที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าว เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ของโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยร่วมที่ 1 ได้มอบมาสเตอร์วิดีโอเทปภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพื่ออัดออกจำหน่าย ซึ่งมาสเตอร์เทปวิดีโอดังกล่าวระบุว่าลิขสิทธิ์ในวิดีโอเทปนั้นเป็นของจำเลยร่วมที่ 1 จำเลยร่วมที่ 2 เป็นผู้ออำนวยการสร้างภาพยนตร์ส่วนโจทก์เป็นเพียงเจ้าของบทประพันธ์เท่านั้น จำเลยร่วมที่ 1 ได้ขออนุญาตออกวิดีโอเทปแพร่ภาพและเสียงจากกองทะเบียน กรมตำรวจ แล้ว ทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าใจว่าจำเลยร่วมที่ 1 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์นั้นแต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าทำสัญยากับจำเลยร่วมที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ควรต้องรับผิดในค่าเสียหายใดๆ ต่อโจทก์ เห็นว่า สำหรับจำเลยร่วมที่ 1 เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่าจำเลยร่วมที่ 2 มีสิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ของโจทก์ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 เพียงนำนวนิยายนั้นไปสร้างเป็นภาพยนตร์ 35 มิลลิเมตร ได้ 1 ครั้ง เพื่อจัดฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศภายใน 7 ปี นับแต่วันทำสัญญาดังกล่าวเท่านั้น จำเลยร่วมที่ 2 ไม่มีสิทธินำภาพยนตร์ที่ได้ดัดแปลงขึ้น แม้เป็นลิขสิทธิ์ของจำเลยร่วมที่ 2 ไปทำซ้ำหรือดัดแปลงหรือนำออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วยวิธีอื่น นอกจากการฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศภายใน 7 ปี ดังนี้ จำเลยร่วมที่ 2 จึงไม่มีสิทธินำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวที่ตนสร้างขึ้นไปทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 1 ทำซ้ำโดยบันทึกเป็นวิดีโอเทปแล้วนำม้วนวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่ายภายใน 7 ปี ดังกล่าวปรากฏตามหนังสือรับรองของบริษัทจำเลยร่วมที่ 1 เอกสารท้ายคำร้องของจำเลยทั้งสามลงวันที่ 7 ตุลาคม 2539 ที่ขอให้เรียกจำเลยร่วมที่ 1 เข้ามาเป็นคู่ความในคดีหมายเลข 2 ว่า บริษัทจำเลยร่วมที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการซื้อขายลิขสิทธิ์ทั้งในรูปของภาพยนตร์หรือภาพยนตร์วิดีโอเทป เพื่อนำมาผลิตหรือบันทึกเป็นวิดีโอเทปและนำออกขาย ให้เช่า หรือให้ใช้สิทธิแก่บุคคลทั่วไปทั้งในและต่างประเทศด้วย บริษัทจำเลยร่วมที่ 1 ผู้ประกอบกิจการดังกล่าว จึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบถึงสิทธิของจำเลยร่วมที่ 2 เสียก่อนว่า บริษัทจำเลยร่วมที่ 2 มีสิทธิอนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 1 นำภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ไปบันทึกเป็นวิดีโอเทป แล้วนำวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่ายได้หรือไม่ เพื่อป้องกันปัญหาที่จำเลยร่วมที่ 1 อาจต้องรับผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ของโจทก์ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่อยู่ในงานภาพยนตร์นั้นได้ หากจำเลยร่วมที่ 1 ได้ตรวจสอบถึงสิทธิของจำเลยร่วมที่ 2 ก่อน ก็จะทราบว่าขณะที่จำเลยร่วมที่ 1 เข้าทำสัญญาลงวันที่ 24 มิถุนายน 2537 กับจำเลยร่วมที่ 2 จำเลยร่วมที่ 2 ไม่มีสิทธิตามสัญญาลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 ที่จะอนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 1 นำภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ซึ่งมีงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดังกล่าวอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์รวมอยู่ด้วยไปทำซ้ำโดยบันทึกเป็นวิดีโอเทปแล้วนำม้วนวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่าย การที่จำเลยร่วมที่ 1 เข้าทำสัญญา จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยร่วมที่ 1 มิได้ตรวจสอบถึงสิทธิดังกล่าวของจำเลยร่วมที่ 2 ก่อน เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะอนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 1 นำภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ ซึ่งมีงานวรรณกรรมรวนิยายเรื่องดังกล่าวอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์รวมอยู่ด้วยไปทำซ้ำโดยบันทึกเป็นวิดีโอเทปแล้วนำม้วนวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่าย จำเลยร่วมที่ 1 จึงไม่อาจอ้างว่าตนมีสิทธิตามสัญญาที่จะทำซ้ำงานภาพยนตร์นั้นเป็นวิดีโอเทปภาพยนตร์และนำม้วนวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่ายได้ เมื่อจำเลยร่วมที่ 1 ทำซ้ำงานภาพยนตร์นั้นซึ่งมีงานวรรณกรรมของโจทก์รวมอยู่ด้วยโดยทำเป็นวิดีโอเทปและนำม้วนวิดีโอเทปที่ทำขึ้นนั้นออกจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ การกระทำของจำเลยร่วมที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 24 (1) และมาตรา 27 (1) หรือตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) และมาตรา 31 (1) และต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยร่วมที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 200,000 บาท แก่โจทก์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล ส่วนปัญหาว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ของโจทก์หรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยร่วมที่ 1 ไม่มีสิทธิตามสัญญาที่จะทำซ้ำงานภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์เป็นวิดีโอเทปภาพยนตร์และนำม้วนวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่ายได้และการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ของโจทก์ดังได้วินิจฉัยข้างต้น จำเลยร่วมที่ 1 จึงไม่มีสิทธิอนุญาตให้บริษัทจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 นำม้วนมาสเตอร์เทปภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวไปผลิตเป็นวิดีโอเทปออกจำหน่ายตามหนังสือสัญญาลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2537 บริษัทจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธินำม้วนมาสเตอร์เทปภาพยนตร์นั้นไปผลิตเป็นวิดีโอเทปออกจำหน่าย ปรากฏตามหนังสือรับรองของบริษัทจำเลยที่ 2 ว่า บริษัทจำเลยที่ 2 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการจัดสร้าง อัด และจำหน่ายวิดีโอเทปด้วย บริษัทจำเลยที่ 2 ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวย่อมทราบดีถึงปัญหาเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ในวิดีโอเทปซึ่งเป็นงานภาพยนตร์และงานโสตทัศนวัสดุ จึงควรอย่างยิ่งที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะได้ตรวจสอบถึงสิทธิของบริษัทจำเลยร่วมที่ 1 ผู้อนุญาตให้จำเลยที่ 2 นำม้วนมาสเตอร์เทปภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ไปผลิตเป็นวิดีโอเทปออกจำหน่ายก่อนเข้าทำสัญญาเพื่อป้องกันปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กลับเข้าทำสัญญากับจำเลยร่วมที่ 1 ไป โดยไม่ปรากฏว่าได้ตรวจสอบถึงลิขสิทธิ์ของจำเลยร่วมที่ 1 ก่อน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่อาจอ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีสิทธิตามสัญญาที่จะทำซ้ำม้วนมาสเตอร์เทปภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ซึ่งมีงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดังกล่าวรวมอยู่ด้วยไปผลิตเป็นวิดีโอเทปออกจำหน่ายได้ซึ่งในข้อนี้จำเลยที่ 3 เบิกความว่า ก่อนจะตกลงทำสัญญากับจำเลยร่วมที่ 1 จำเลยที่ 3 เคยดูวิดีโอเทปแล้ว ตามวิดีโอเทปดังกล่าวมีข้อความว่าโจทก์เป็นเจ้าของบทประพันธ์นวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ แสดงว่าจำเลยที่ 3 ทราบดีว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ทำซ้ำงานภาพยนตร์นั้นซึ่งมีงานวรรณกรรมของโจทก์รวมอยู่ด้วย โดยผลิตเป็นวิดีโอเทปออกจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวจึงเป็นการร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 24 (1) และมาตรา 27 (1) หรือตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) และมาตรา 31 (1) และต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า ก่อนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะเข้าทำสัญญากับจำเลยร่วมที่ 1 จำเลยที่ 3 ได้ตรวจสอบจากกองทะเบียน กรมตำรวจ แล้วปรากฏว่าจำเลยร่วมที่ 1 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวจริงนั้น ในเรื่องนี้ได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์ แสดงเดช เจ้าพนักงานผู้ตรวจและพิจารณาเทป ซึ่งเป็นพยานฝ่ายจำเลยตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า วัตถุประสงค์ของการตรวจสอบม้วนเทปก็เพื่อไม่ให้มีภาพลามกปรากฏในม้วนเทป และตรวจสอบว่าไม่มีการแสดงที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเท่านั้น การที่ผู้สร้างภาพยนตร์จะได้รับอนุญาตจากเจ้าของบทประพันธ์อย่างไร หรือไม่ เป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายต้องรับผิดชอบกันเอง การตรวจสอบดังกล่าวของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าว จึงไม่ใช่การตรวจสอบถึงสิทธิในลิขสิทธิ์ที่แท้จริงของจำเลยร่วมที่ 1 ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังเพียงพอในการตรวจสอบถึงสิทธิดังกล่าวในฐานะเป็นผู้ประกอบธุรกิจจัดสร้าง อัด และจำหน่ายวิดีโอเทป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่าโจทก์ควรได้รับค่าเสียหายเพียงใด จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชดใช้แก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท เมื่อรวมกับที่พิพากษาให้จำเลยร่วมที่ 1 ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ชดใช้แก่โจทก์แล้วเป็นจำนวน 600,000 บาท นั้นสูงเกินไป เห็นว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยร่วมที่ 2 ชำระเป็นจำนวน 200,000 บาท และจำเลยร่วมที่ 1 ชำระเป็นจำนวน 200,000 บาท แก่โจทก์ สำหรับจำเลยร่วมที่ 2 เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์มาโดยตรงจากโจทก์ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 จึงทราบดีว่าสิทธิเพียงนำนวนิยายนั้นไปสร้างเป็นภาพยนตร์ 35 มิลลิเมตร ได้เพียง 1 ครั้ง เพื่อจัดฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศภายใน 7 ปี เท่านั้น ไม่มีสิทธิทำซ้ำงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ซึ่งมีอยู่ในภาพยนตร์ที่จำเลยร่วมที่ 2 สร้างขึ้น โดยบันทึกเป็นวิดีโอเทปภาพยนตร์แล้วนำวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ การที่จำเลยร่วมที่ 2 บันทึกเป็นวิดีโอเทปแล้วนำวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่ายจึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมดังกล่าวของโจทก์ ทั้งๆ ที่จำเลยร่วมที่ 2 รู้อยู่ว่าไม่อาจทำได้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยร่วมที่ 2 ชำระแก่โจทก์จำนวน 200,000 บาท จึงเหมาะสมแก่พฤติกาณณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว ส่วนจำเลยร่วมที่ 1 เป็นบริษัทซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการซื้อขายลิขสิทธิ์ทั้งในรูปของภาพยนตร์หรือภาพยนตร์วิดีโอเทปเพื่อนำมาผลิตหรือบันทึกเป็นวิดีโอเทปและนำออกขาย ให้เช่าหรือให้ใช้สิทธิแก่บุคคลทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ จึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบถึงสิทธิของจำเลยร่วมที่ 2 เสียก่อนว่า บริษัทจำเลยร่วมที่ 2 มีสิทธิอนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 1 นำภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ไปบันทึกเป็นวิดีโอเทปแล้วนำวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่ายได้หรือไม่ เพื่อป้องกันปัญหาที่จำเลยร่วมที่ 1 อาจต้องรับผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมดังกล่าวของโจทก์ได้ แต่จำเลยร่วมที่ 1 ในฐานะผู้ประกอบกิจการดังกล่าวหาได้ตรวจสอบไม่ นับว่าเป็นความบกพร่องและขาดความระมัดระวังอย่างมากของจำเลยร่วมที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยร่วมที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายสำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์จำนวน 200,000 บาท เท่ากับจำเลยร่วมที่ 2 จึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้วเช่นกัน ส่วนบริษัทจำเลยที่ 2 ซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนก็ปรากฏว่าบริษัทจำเลยที่ 2 ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวย่อมทราบดีถึงปัญหาเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ในวิดีโอเทป ควรอย่างยิ่งที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะได้ตรวจสอบถึงสิทธิของบริษัทจำเลยร่วมที่ 1 ผู้อนุญาตให้จำเลยที่ 2 นำม้วนมาสเตอร์เทปภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ไปผลิตเป็นวิดีโอเทปออกจำหน่ายก่อนเข้าทำสัญญากับจำเลยร่วมที่ 1 แต่ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวเข้าทำสัญญานั้นโดยไม่ตรวจสอบก่อนนับว่าเป็นความบกพร่องอย่างมากของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เช่นกัน แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้รับอนุญาตในช่วงที่ 3 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายสำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์ในวรรณกรรมของโจทก์จำนวน 100,000 บาท น้อยกว่าจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ครึ่งหนึ่ง จึงนับว่าเหมาะสมแก่พฤติการร์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประการสุดท้ายว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยอื่นใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท โดยไม่แยกให้จำเลยแต่ละคนชดใช้เท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยแต่ละคนต้องชดใช้แก่โจทก์นั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 ได้บัญญัติให้ความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดี แต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่าคู่ความฝ่ายใดจะชนะคดีเต็มตามข้อหาหรือแต่บางส่วน ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีนั้นเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง หรือให้คู่ความแต่ละฝ่ายเสียค่าฤชาธรรมเนียมส่วนของตน หรือตามส่วนแห่งค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายได้เสียไปก็ได้ ตามที่ศาลจะใช้ดุลพินิจ โดยคำนึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง จากบทบัญญัติมาตราดังกล่าว เห็นได้ว่า การสั่งให้คู่ความฝ่ายใดรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมจำนวนมากน้อยเพียงใดนั้น เป็นดุลพินิจของศาล มีเพียงดุลพินิจในการสั่งเกี่ยวกับค่าทนายความซึ่งเป็นค่าฤชาธรรมเนียมอย่างหนึ่งเท่านั้นที่ต้องเป็นไปตามอัตราค่าทนายความในตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ปรากฏว่าคดีนี้มีทุนทรัพย์ตามคำฟ้องและมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ตามอุทธรณ์ของโจทก์จำนวน 1,000,000 บาท อัตราค่าทนายความขั้นสูงตามตาราง 6 ดังกล่าวสำหรับในศาลชั้นต้นไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนทุนทรัพย์ และในศาลอุทธรณ์ไม่เกินร้อยละ 3 ของจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ค่าทนายความที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยทุกคนร่วมกันใช้แทนโจทก์ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รวมกันจำนวน 20,000 บาท จึงไม่เกินอัตราค่าทนายความตามตาราง 6 ดังกล่าว ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจกำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยอื่นใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท จึงชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ