คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3068/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คู่ความจะร้องขอเลื่อนคดีติดต่อกันได้ต้องเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันมิได้ก้าวล่วงเสียได้ และแสดงให้เป็นที่พอใจต่อศาลได้ว่าถ้าไม่อนุญาตให้เลื่อนต่อไปอีกจะเสียความยุติธรรมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40 วรรคหนึ่ง และการอนุญาตให้เลื่อนคดีหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาล
จำเลยขอเลื่อนการสืบพยานติดต่อกันถึง 9 ครั้ง แม้โจทก์จะขอเลื่อนคดีด้วยครั้งหนึ่งและจำเลยไม่ติดใจสืบพยานที่เตรียมมาอีก 2 นัด แต่วันนัดสืบพยานจำเลยอีก 4 นัดหลังจากนั้น จำเลยก็ยังคงขอเลื่อนคดีโดยอ้างเหตุขัดข้องเกี่ยวกับพยาน ซึ่งศาลได้กำชับให้จำเลยเตรียมพยานมาให้พร้อมเกือบทุกนัด จนกระทั่งในวันนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 จำเลยยังขอเลื่อนคดีด้วยเหตุขัดข้องเกี่ยวกับพยานจำเลยอีก ซึ่งเป็นเหตุผลเดิม ทั้งๆ ที่ทราบคำกำชับของศาลชั้นต้นแล้ว แสดงว่าจำเลยมิได้ให้ความสนใจและความสำคัญต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ทั้งเหตุที่อ้างขอเลื่อนคดีก็มิใช่เหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ และทนายจำเลยก็ไม่ได้แสดงให้เป็นที่พอใจว่า ถ้าศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีต่อไปอีกจะทำให้เสียความยุติธรรม อันจะเป็นเหตุให้ศาลอนุญาตให้เลื่อนคดีได้ พฤติการณ์ต่างๆ ส่อแสดงถึงเจตนาหน่วงเหนี่ยวให้คดีล่าช้า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดี และให้ถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบให้งดสืบพยานชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 5,450,321.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 3,310,083 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 3,310,083 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 607,500 บาท นับแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2535 จากต้นเงิน 1,074,834 บาท นับแต่วันที่ 5 มกราคม 2536 จากต้นเงิน 202,500 บาท นับแต่วันที่ 6 มกราคม 2536 จากต้นเงิน 436,167 บาท นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2536 จากต้นเงิน 685,332 บาท นับแต่วันที่ 22 มกราคม 2536 และจากต้นเงิน 303,750 บาท นับแต่วันที่ 25 มกราคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบให้งดสืบพยานจำเลยชอบหรือไม่ เห็นว่า คู่ความจะร้องขอเลื่อนคดีติดต่อกันได้ต้องเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ และแสดงให้เป็นที่พอใจต่อศาลได้ว่าถ้าไม่อนุญาตให้เลื่อนต่อไปอีกจะเสียความยุติธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40 วรรคหนึ่ง และการอนุญาตให้เลื่อนคดีหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาล พฤติการณ์แห่งคดีได้ความว่า เมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จแล้ว ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานจำเลยนัดแรกวันที่ 29 กันยายน 2541 จำเลยได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่า ตัวจำเลยต้องไปพบพนักงานอัยการ และพยานอีกปากหนึ่งคือ นายนรินทร์ รัตนวิจัย ติดประชุม ศาลชั้นต้นอนุญาต นัดสืบพยานจำเลยวันที่ 27 ตุลาคม 2541 ในวันนัด ทนายจำเลยแถลงว่าไม่ติดใจสืบนายนรินทร์และไม่ได้เตรียมพยานปากอื่นขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นอนุญาตและนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 10 และ 24 พฤศจิกายน 2541 และวันที่ 8 ธันวาคม 2541 ถึงวันนัดวันที่ 10 พฤศจิกายน 2541 ทนายจำเลยแถลงว่าพยานป่วยกะทันหันไม่สามารถมาศาลได้ ขอเลื่อนคดีและยกเลิกวันนัดที่ 24 พฤศจิกายน 2541 ศาลชั้นต้นอนุญาต ครั้งถึงวันนัดวันที่ 8 ธันวาคม 2541 ตามที่นัดไว้เดิมทนายจำเลยแถลงว่าพยานที่เตรียมไว้คือนายจิตตสร ปราโมช ณ อยุธยา โจทก์แถลงรับข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับพยานปากนี้จึงไม่ติดใจสืบขอเลื่อนคดีไปสืบพยานจำเลยที่เหลืออีก 7 ปาก ศาลชั้นต้นอนุญาต นับสืบพยานจำเลยวันที่ 8 กุมภาพันธ์ และ 9 มีนาคม 2542 พร้อมกับกำชับจำเลยให้เตรียมพยานมาให้พร้อมสืบ ซึ่งเมื่อวันนัดวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2542 ทนายจำเลยอ้างว่าพยานที่ขอหมายเรียกไว้ได้แก่นางสาวพรรณนิภา กฤตวิทย์ และนางสาวมาลี รุจิเวชพงศ์ธร ส่งหมายให้ไม่ได้ขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นอนุญาตและกำชับจำเลยให้ติดตามพยานมาให้พร้อมสืบ ในวันนัดวันที่ 9 มีนาคม 2542 ทนายจำเลยแถลงว่าพยานที่ขอหมายเรียกไว้ 8 ปาก คือ นางสาวพรรณนิภาและนางสาวมาลีไม่สามารถติดตามให้มาเบิกความได้ กำลังสืบหาที่อยู่ ส่วนพยานชื่อนางสาวสุภาภรณ์ ทิพยศักดิ์ ไม่ติดใจสืบเหลือพยานที่จะสืบอีก 6 ปาก ขอเลื่อนคดีศาลชั้นอนุญาต นับสืบพยานจำเลยวันที่ 7 และ 25 พฤษภาคม 2542 และกำชับให้จำเลยสืบหาที่อยู่ของพยานและรีบขอหมายเรียกเสียแต่เนิ่นๆ หากส่งหมายไม่ได้ให้แถลงภายใน 5 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้มิฉะนั้นถือว่าไม่ติดใจสืบพยานดังกล่าว เมื่อถึงวันนัดวันที่ 7 พฤษภาคม 2542 ทนายจำเลยแถลงว่ายื่นคำร้องขอออกหมายเรียกพยานแล้ว แต่ไปขอรับหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ศาล ปรากฏว่าไม่พบจึงไม่สามารถนำหมายเรียกไปส่งให้แก่พยานได้ขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นอนุญาต นัดสืบพยานจำเลยวันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ตามที่นัดไว้เดิมพร้อมกำชับจำเลยให้ยื่นคำร้องขอหมายเรียกเสียแต่เนิ่นๆ เมื่อถึงวันนัด ทนายจำเลยแถลงว่า นางสาวพรรณนิภาพยานที่จะมาเบิกความวันนี้ติดธุระที่ต่างจังหวัด ไม่สามารถมาศาลได้ ขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนคดี นัดสืบพยานจำเลยวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 ครั้นถึงวันนัดทนายจำเลยแถลงว่าพยานที่ขอหมายเรียกไว้ 2 ปาก คือ นางสาวนิสาลักษณ์ รัชตะอำนวย ไม่สามารถส่งหมายให้แก่พยานได้ ส่วนนางสาวพรรณิภามีธุระต้องพาสามีไปโรงพยาบาล ไม่มีพยานมาศาลขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบให้งดสืบพยานจำเลย จึงเห็นได้ว่า คดีนี้จำเลยขอเลื่อนการสืบพยานติดต่อกันถึง 9 ครั้ง แม้โจทก์จะขอเลื่อนคดีด้วยครั้งหนึ่งและจำเลยไม่ติดใจสืบพยานที่เตรียมมาอีก 2 นัด แต่วันนัดสืบพยานจำเลยอีก 4 นัด หลังจากนั้นจำเลยก็ยังคงขอเลื่อนคดีโดยอ้างเหตุขัดข้องเกี่ยวกับพยาน ซึ่งศาลก็ได้กำชับให้จำเลยเตรียมพยานมาให้พร้อมสืบเกือบทุกนัด จนกระทั่งในวันนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 จำเลยยังคงขอเลื่อนคดีด้วยเหตุขัดข้องเกี่ยวกับพยานจำเลยอีก ซึ่งเป็นเหตุผลเดิม ทั้งๆ ที่ทราบคำกำชับของศาลชั้นต้นแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีแสดงว่าจำเลยมิได้ให้ความสนใจและความสำคัญต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นแม้แต่น้อย มิฉะนั้นแล้วทนายจำเลยน่าจะต้องเตรียมนำพยานอื่นๆ ที่เหลืออยู่รวมทั้งตัวจำเลยมาสืบได้ ทั้งๆ ที่มีพยานจำเลยที่ติดใจสืบเหลืออีกหลายปาก แต่ทนายจำเลยกลับขอเลื่อนคดี ทั้งเหตุที่อ้างขอเลื่อนคดีดังกล่าวก็มิใช่เหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ นอกจากนี้ทนายจำเลยก็ไม่ได้แสดงให้เป็นที่พอใจว่า ถ้าศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีต่อไปอีกจะทำให้เสียความยุติธรรมอันจะเป็นเหตุให้ศาลอนุญาตให้เลื่อนคดีได้ พฤติการณ์ต่างๆ ดังกล่าวส่อแสดงถึงเจตนาหน่วงเหนี่ยวให้คดีล่าช้า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและให้ถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบ ให้งดสืบพยานชอบด้วยเหตุผลแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินให้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า หุ้นที่พนักงานของโจทก์ 38 คนถือไว้ตามฟ้องไม่ได้เป็นของโจทก์ เป็นการถือแทนจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดหาเงินมาชำระค่าหุ้นและค่าซื้อหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมดนั้น เห็นว่า โจทก์มีนายศุภชัย ใจสมุทร ทนายโจทก์ นางสาวอุบลทิพย์ ยาสมุทร นายสำรอง วาณิชยานนท์ และนางปิยาภรณ์ รัตนจันท ซึ่งต่างเป็นพนักงานของโจทก์เบิกความยืนยันว่า โจทก์ให้พนักงานของโจทก์ 38 คนถือหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด จำนวน 900,000 หุ้น ไว้แทนโจทก์ โดยให้พนักงานแต่ละคนทำหลักฐานการโอนหุ้นไว้ตามหนังสือรับรองข้อเท็จจริง ต่อมาบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด มีมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2535 ครั้งที่ 2 ให้เงินปันผลครึ่งปีแรกแก่ผู้ถือหุ้นอัตราหุ้นละ 5 บาท นางปิยาภรณ์เป็นผู้รับเช็คค่าเงินปันผลมอบให้แก่พนักงานผู้ถือหุ้นแทนโจทก์เพื่อนำเข้าบัญชีเรียกเก็บเงินตามเช็ค แล้วให้พนักงานเหล่านั้นถอนเงินมอบให้นางปิยาภรณ์นำไปมอบให้จำเลยซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์แต่จำเลยไม่โอนเงินดังกล่าวให้โจทก์ จากนั้นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด ได้เพิ่มทุนหุ้นที่โจทก์ให้พนักงานถือแทนจาก 900,000 หุ้น เพิ่มขึ้นเป็น 1,500,000 หุ้น ต่อมาพนักงานได้โอนหุ้นจำนวน 900,000 หุ้น คืนโจทก์ หุ้นส่วนที่เหลืออีก 600,000 หุ้น จำเลยให้พนักงานนำไปจำนำไว้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด เป็นประกันการชำระหนี้เงินยืมของนางนงจันทร์ จันทร์ขจร และพนักงานโจทก์ที่ถือหุ้นแทน ได้แก่ นางสาวระพีพรรณ ตีระสกุล นายสาคร อนันตพิพัฒน์กุล นายดนัย กาญจนินทุ นางสาวนงลักษณ์ เสือนาค นายมนตรี เสวกภัย นายเปี่ยมศักดิ์ จงฟุ้งเฟื่อง และนางอรุณี เลิศศิลไพศาล ต่างเบิกความสนับสนุนว่า พยานได้ร่วมกับพนักงานอื่นของโจทก์รวม 38 คนถือหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด แทนโจทก์ เมื่อมีการจ่ายเงินปันผล นางปิยาภรณ์เป็นผู้นำเช็คมามอบให้พยานและพนักงานซึ่งถือหุ้นแทนโจทก์เพื่อนำเข้าบัญชี และเมื่อเบิกเงินตามเช็คได้แล้วก็ได้มอบคืนให้แก่นางปิยาภรณ์ นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายยรรยง ลิขิตเจริญ ซึ่งทำงานอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ และได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการควบคุมการดำเนินกิจการของโจทก์ให้ทำการตรวจสอบข้อมูลเบิกความยืนยันว่า ตรวจสอบแล้วพบข้อเท็จจริงดังเช่นที่พยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความ ประกอบกับโจทก์มีพยานหลักฐานที่เป็นเอกสารได้แก่ เช็คชำระเงินปันผลค่าหุ้น 38 ฉบับ เอกสารหมาย จ.14 หนังสือนำส่งของโจทก์ที่ขอให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด โอนหุ้นจากที่พนักงาน 38 คนถือไว้แทนโจทก์กลับเป็นชื่อโจทก์ สำเนาบันทึกเรื่องเงินปันผลและการถือหุ้นในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด สำเนาหนังสือขอนำส่งแคชเชียร์เช็ค สำเนาบันทึกเรื่องการจ่ายเงินปันผล หนังสือของธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งให้โจทก์โอนหุ้นบริษัทในเครือ หนังสือของโจทก์ขอผ่อนผันการโอนหุ้นบริษัทในเครือ หนังสือขอผ่อนผันการซื้อหรือมีหุ้นในบริษัทจำกัด เป็นต้น ส่วนจำเลยไม่มีพยานนำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลรับฟังได้ว่าพนักงานของโจทก์ 38 คน ถือหุ้นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด ไว้แทนโจทก์ จำเลยในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ได้รับเงินปันผลค่าหุ้นจำนวน 900,000 หุ้น ดังกล่าวไว้แทนโจทก์ต้องรับผิดคืนเงินปันผลจำนวน 3,310,083 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้แก่โจทก์ดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share