คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3054/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มี
โทษจำคุกและปรับ ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ ดังนั้น เมื่อจำเลยมีความผิดตามมาตรา 66 วรรคสอง ซึ่งมีโทษจำคุกและปรับ จึงเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับโดยเด็ดขาด หาใช่อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะงดเว้นไม่ลงโทษปรับได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง จำคุก 5 ปี และปรับ 400,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 200,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้กักขังแทนค่าปรับเกินหนึ่งปีได้แต่ไม่เกินสองปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สมควรกำหนดโทษจำเลยสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษที่มีอันตรายร้ายแรง นอกจากจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพอนามัยของผู้เสพเองแล้ว ยังเป็นบ่อเกิดของอาชญากรรมและเป็นต้นเหตุของปัญหาสังคมอีกหลายประเภท ทำให้รัฐต้องเสียงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปีเป็นจำนวนมากเพื่อป้องกันและปราบปรามทั้งยังต้องรับภาระในการบำบัดรักษาผู้ที่ติดยาเสพติดให้โทษชนิดดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งรัฐได้พยายามประชาสัมพันธ์ทางสื่อต่างๆ ให้ประชาชนตระหนักถึงพิษภัยของยาเสพติดให้โทษอยู่เสมอ แต่จำเลยก็มิได้นำพาและหาได้คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่สังคมส่วนรวมไม่ กลับมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนถึง 42 เม็ด น้ำหนัก 3.734 กรัม มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 0.843 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ลักษณะการกระทำความผิดก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของยาเสพติดให้โทษ อันเป็นผลกระทบและสร้างปัญหาแก่สังคมไม่มีที่สิ้นสุด พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี 6 เดือน และปรับ 200,000 บาท โดยไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า หากศาลฎีกาไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยก็ขอให้งดเว้นโทษปรับแก่จำเลยนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษจำคุกและปรับ ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ ดังนั้น เมื่อจำเลยมีความผิดตามมาตรา 66 วรรคสอง ซึ่งมีโทษจำคุกและปรับ จึงเป็นกรณีกฎหมายบังคับโดยเด็ดขาด หาใช่อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะงดเว้นไม่ลงโทษปรับได้ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share