แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 แก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ฉบับปี 2517 เป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ฉบับปี 2528 แล้ว หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ก็ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอีก 3 ครั้ง ซึ่งการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนับแต่ฉบับปี 2528 เป็นต้นมาได้มีการกำหนดเรื่องการเกษียณอายุที่ 55 ปีบริบูรณ์ไว้ทุกฉบับและปรากฏว่า โจทก์ได้ลงลายมือชื่อยินยอมปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและเงื่อนไขเกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงานไว้ตั้งแต่ปี 2535 และนับแต่ปี 2533 เป็นต้นมาก็ได้มีพนักงานของจำเลยที่ 1 เกษียณอายุตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเมื่ออายุ 55 ปี ซึ่งโจทก์รับทราบมาโดยตลอดโดยไม่ได้โต้แย้งใด ๆ จึงเป็นกรณีที่ลูกจ้างของจำเลยรวมทั้งโจทก์ตกลงยินยอมปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในส่วนของการเกษียณอายุเมื่อ 55 ปีบริบูรณ์ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 กำหนดเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานจากฉบับปี 2517 เป็นฉบับปี 2528 โดยเปลี่ยนแปลงและเพิ่มการเกษียณอายุเมื่ออายุ 55 ปีบริบูรณ์ และฉบับต่อมาซึ่งกำหนดไว้เช่นเดียวกัน จึงมีผลผูกพันโจทก์ การเลิกจ้างโจทก์เป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรับโจทก์กลับเข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 จนกว่าจะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หากไม่รับกลับเข้าทำงานให้จำเลยชดใช้เงินซึ่งเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำนวน 2,573,930 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์สมัครเข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2516 และพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2547 เพราะเหตุเกษียณอายุเมื่อมีอายุครบ 55 ปี ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ระหว่างที่โจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2516 จนถึงวันที่ 1 มกราคม 2528 จำเลยที่ 1 ไม่มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในเรื่องการพ้นสภาพพนักงานเนื่องจากการเกษียณอายุไว้ ต่อมาได้มีการกำหนดเหตุแห่งการพ้นสภาพของลูกจ้างเนื่องจากการเกษียณอายุไว้ ถือว่าเป็นการแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยมีเหตุผล การเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุ ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่า เดิมจำเลยที่ 1 มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2517 โดยกำหนดการพ้นสภาพเนื่องจากเกษียณอายุไว้ แต่มิได้กำหนดอายุไว้เท่าใดย่อมหมายถึงมีอายุครบ 60 ปี เมื่อจำเลยที่ 1 แก้ไขข้อบังคับดังกล่าวเมื่อปี 2528 กำหนดให้เกษียณอายุเมื่อมีอายุ 55 ปี จึงเป็นการแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีผลผูกพันโจทก์นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาปรากฏว่าเมื่อจำเลยที่ 1 แก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ฉบับปี 2517 เป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ฉบับปี 2528 แล้ว หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ก็ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานมาอีก 3 ครั้ง ซึ่งการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนับแต่ฉบับปี 2528 เป็นต้นมาได้มีการกำหนดเรื่องการเกษียณอายุที่ 55 ปีบริบูรณ์ไว้ทุกฉบับและปรากฏว่า โจทก์ได้ลงลายมือชื่อยินยอมปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและเงื่อนไขเกี่ยวกับสัญญาจ้างจ้างแรงงานไว้ตั้งแต่ปี 2535 และปรากฏว่านับแต่ปี 2533 เป็นต้นมาก็ได้มีพนักงานของจำเลยที่ 1 เกษียณอายุตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเมื่ออายุ 55 ปี ซึ่งโจทก์รับทราบมาโดยตลอดโดยไม่ได้โต้แย้งใดๆ จึงเป็นกรณีที่ลูกจ้างของจำเลยรวมทั้งโจทก์ตกลงยินยอมปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในส่วนของการเกษียณอายุเมื่อ 55 ปีบริบูรณ์ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 กำหนดเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานจากฉบับปี 2517 เป็นฉบับปี 2528 โดยเปลี่ยนแปลงและเพิ่มการเกษียณอายุเมื่ออายุ 55 ปีบริบูรณ์ และฉบับต่อมาซึ่งกำหนดไว้เช่นเดียวกันจึงมีผลผูกพันโจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าการเลิกจ้างโจทก์เป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นชอบด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน