คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6971/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 การออกเช็คที่จะถือว่าเป็นความผิด จะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายด้วย หนี้ตามเช็คที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่นั้นเป็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิด ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายแต่เพียงว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คจำนวน 3 ฉบับ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสลักหลังมอบให้แก่โจทก์ชำระหนี้เงินกู้โดยมิได้ระบุว่าเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ทั้งโจทก์มิได้แนบสำเนาสัญญากู้มาท้ายฟ้อง คำฟ้องของโจทก์จึงขาดข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยทั้งสองจะให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (ที่ถูกมาตรา 4 (1) (2) (3) (4)) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษกระทงแรก จำคุกคนละ 1 เดือน กระทงที่สอง จำคุกคนละ 2 เดือน และกระทงที่สาม จำคุกคนละ 2 เดือน รวม 3 กระทง รวมเป็นจำคุกคนละ 5 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 2 เดือน 15 วัน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำเลยทั้งสองกระทงที่สองจำคุกคนละ 1 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุกกระทงอื่นแล้ว เป็นจำคุกคนละ 4 เดือน ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 2 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ ปัญหาดังกล่าวแม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 แต่กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ฯลฯ เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้นผู้ออกเช็คมีความผิด…” ตามบทบัญญัติดังกล่าวการออกเช็คที่จะเป็นความผิดจะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายด้วยหนี้ตามเช็คที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิด ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายแต่เพียงว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คจำนวน 3 ฉบับ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสลักหลังมอบให้แก่โจทก์ชำระหนี้เงินกู้โดยมิได้ระบุว่าเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ทั้งโจทก์มิได้แนบสำเนาสัญญากู้มาท้ายฟ้อง คำฟ้องของโจทก์จึงขาดข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แม้จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย กรณีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่น ๆ ของจำเลยทั้งสองต่อไป”
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

Share