คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5348/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่ออกเป็นสองกรรมต่างกัน และมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 โดยการกระทำของจำเลยทั้งสี่ในกรรมแรกตามฟ้องเป็นเรื่องจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกับ อ. ขอให้หรือรับว่าจะให้เงินแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการหรือไม่กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ในการนำคนต่างด้าวไปทำบัตรประจำตัวประชาชน อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 144 ซึ่งจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำความผิดระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน 2547 ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2547 ส่วนการกระทำของจำเลยทั้งสี่ในกรรมที่สองเป็นเรื่องจำเลยทั้งสี่ร่วมกับ ค. แจ้งข้อความและแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน และแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการในการที่ อ. ขอมีบัตรประจำตัวประชาชนและมีชื่อและรายการในทะเบียนบ้าน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชนฯ มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรฯ มาตรา 50 วรรคหนึ่ง และ ป.อ. มาตรา 267 ซึ่งจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำความผิดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2547 แม้ความผิดดังกล่าวจะกระทำต่อเนื่องกับความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน และจุดประสงค์ในการกระทำความผิดเป็นอย่างเดียวกันคือ เพื่อให้เจ้าพนักงานออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ อ. แต่ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 144 มีลักษณะสภาพความผิดและอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแยกต่างหากจากการกระทำความผิดอื่น ๆ โดยเมื่อจำเลยทั้งสี่ร่วมกันขอให้หรือรับว่าจะให้เงินแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการหรือไม่กระทำการโดยมิชอบด้วยหน้าที่ก็เป็นความผิดสำเร็จในตัวกรรมหนึ่งแล้ว และต่อมาจำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานอื่นขึ้นอีกจึงเป็นความผิดคนละกรรมต่างกัน เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวเป็นสองกรรมต่างกันโดยชัดแจ้ง และจำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ จึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน
พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชนฯ มาตรา 14 วรรคท้าย บัญญัติความว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตาม (1) หรือ (2) หรือ (3) เป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย ต้องระวางโทษหนักขึ้น เมื่อจำเลยทั้งสี่เป็นผู้มีสัญชาติไทยทุกคน กรณีจึงไม่เข้าองค์ประกอบตามบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยทั้งสี่จึงมีความผิดตามมาตรา 14 (1) แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวเท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสี่ตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชนฯ มาตรา 14 วรรคท้าย มาด้วยนั้น เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง รวมทั้งกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทกฎหมายดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 4, 14 พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 4, 50 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 90, 91, 144, 267
จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1), วรรคท้าย พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 4, 50 (ที่ถูก มาตรา 50 วรรคหนึ่ง) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 144, 267 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันแจ้งใช้ และแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จเพื่อให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ (ที่ถูกควรระบุให้ชัดเจนว่า ฐานแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชน ฐานแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นมีชื่อหรือรายการอย่างหนึ่งอย่างใดในทะเบียนบ้านและฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ) เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสี่คนละ 2 ปี ฐานร่วมกันให้สินบนแก่เจ้าพนักงานจำคุกคนละ 6 เดือน รวมจำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งทุกกระทงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี 3 เดือน
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องเป็นความผิดกรรมเดียวหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน แล้วร่วมกันแจ้งใช้ และแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จเพื่อให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการต่อเนื่องกันในทันที จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่ออกเป็นสองกรรมต่างกัน และมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 โดยการกระทำของจำเลยทั้งสี่ในกรรมแรกตามฟ้องเป็นเรื่องจำเลยทั้งสี่ร่วมกับนายอาเบขอให้หรือรับว่าจะให้เงินแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการหรือไม่กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ในการนำคนต่างด้าวไปทำบัตรประจำตัวประชาชน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 ซึ่งจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำความผิดระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน 2547 ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2547 ส่วนการกระทำของจำเลยทั้งสี่ในกรรมที่สองเป็นเรื่องจำเลยทั้งสี่ร่วมกับนายอาเบแจ้งข้อความและแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน และแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการในการที่นายอาเบขอมีบัตรประจำตัวประชาชนและมีชื่อและรายการในทะเบียนบ้าน อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ซึ่งจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำความผิดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2547 แม้ความผิดดังกล่าวจะกระทำต่อเนื่องกับความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน และจุดประสงค์ในการกระทำความผิดเป็นอย่างเดียวกันคือเพื่อให้เจ้าพนักงานออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่นายอาเบ แต่ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 มีลักษณะสภาพความผิดและอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแยกต่างหากจากการกระทำความผิดอื่น ๆ โดยเมื่อจำเลยทั้งสี่ร่วมกันขอให้หรือรับว่าจะให้เงินแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการหรือไม่กระทำการโดยมิชอบด้วยหน้าที่ก็เป็นความผิดสำเร็จในตัวกรรมหนึ่งแล้ว และต่อมาจำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานอื่นขึ้นอีกจึงเป็นความผิดคนละกรรมต่างกัน เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวเป็นสองกรรมต่างกันโดยชัดแจ้ง และจำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ จึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน หาใช่กรรมเดียวดังที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 วรรคท้าย บัญญัติความว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตาม (1) หรือ (2) หรือ (3) เป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย ต้องระวางโทษหนักขึ้น แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยทั้งสี่เป็นผู้มีสัญชาติไทยทุกคน กรณีจึงไม่เข้าองค์ประกอบตามบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยทั้งสี่จึงมีความผิดตามมาตรา 14 (1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเท่านั้นที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 วรรคท้าย มาด้วยนั้น เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง รวมทั้งกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทกฎหมายดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 วรรคท้าย ฐานแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชนฐานแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นมีชื่อหรือมีรายการอย่างหนึ่งอย่างใดในทะเบียนบ้าน และฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกคนละ 6 เดือน รวมกับโทษฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน เป็นจำคุกคนละ 1 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกคนละ 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share