แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
นอกจากผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนจะมีอำนาจในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้แล้ว ตามบทบัญญัติมาตรา 90/25 และมาตรา 90/59 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ยังได้บัญญัติให้บรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของบริษัทลูกหนี้ ยกเว้นเฉพาะสิทธิที่จะได้เงินปันผลตกแก่ผู้ทำแผน และในที่สุดตกแก่ผู้บริหารแผนตามลำดับด้วย ที่โจทก์อ้างว่า สิทธิของผู้ถือหุ้นที่จะขอตรวจดูเอกสารบันทึกรายงานการประชุม สิทธิที่จะได้รับสำเนางบดุลบัญชีของบริษัท สิทธิในการขอรับสำเนาทะเบียนผู้ถือหุ้น สิทธิในการเข้าประชุมในที่ประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1207, 1197, 1140 และ 1176 เป็นสิทธิที่กฎหมายได้กำหนดไว้เป็นเรื่องเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับตัวของผู้ถือหุ้นคนนั้น ๆ เท่านั้น เช่นเดียวกับสิทธิในการรับเงินปันผลตามมาตรา 1201 ซึ่งต่างกับสิทธิของผู้ถือหุ้นตามบทบัญญัติในมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง ที่ให้ผู้ถือหุ้นมีอำนาจฟ้องกรรมการแทนบริษัทได้ นั้น ป.พ.พ. ไม่ได้มีบทบัญญัติระบุไว้เลยว่า สิทธิของผู้ถือหุ้นดังกล่าวมีข้อจำกัดที่จะต้องเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องเฉพาะเรื่องในส่วนของผู้ถือหุ้นแต่ละคนเท่านั้น จึงเป็นสิทธิที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนจะเข้าควบคุมกำกับดูแลเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทได้ในลักษณะเดียวกับสิทธิที่จะฟ้องกรรมการตามมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง ต่างกันแต่เพียงว่าสิทธิอื่น ๆ ข้างต้นนั้นเป็นการดำเนินการกันอยู่ภายในบริษัท ส่วนสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง ให้สิทธิผู้ถือหุ้นใช้สิทธิควบคุมดูแลโดยผ่านทางศาลได้ ดังนั้นจึงมิใช่สิทธิเป็นการเฉพาะส่วนของตัวและต้องอยู่ในบังคับแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/25 และ 90/59 เช่นเดียวกัน
พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/67 ได้บัญญัติกระบวนการควบคุมตรวจสอบการจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้ไว้แล้ว ซึ่งถ้าหากมีการจัดการไม่เป็นไปตามแผนหรือโดยทุจริต หรือทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ ก็มีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ คณะกรรมการเจ้าหนี้หรือผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้ตรวจสอบ สามารถรายงานหรือมีคำขอโดยทำเป็นคำร้องโดยตรงขอให้ศาลที่กำกับการจัดการอยู่อีกชั้นหนึ่งมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรได้ ซึ่งเป็นการตรวจสอบควบคุมและกำกับดูแลที่กว้างขวาง รวดเร็วและรัดกุมมากยิ่งกว่าที่ ป.พ.พ. บัญญัติถึงสิทธิการตรวจสอบครอบงำการปฏิบัติงานของกรรมการบริษัทเสียอีก นอกจากนี้ผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนเข้ามาจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้โดยความยินยอมของที่ประชุมเจ้าหนี้ และด้วยความเห็นชอบของศาล โดยให้ดำเนินการไปตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทลูกหนี้ อยู่ภายใต้การตรวจสอบของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรรมการเจ้าหนี้และผู้บริหารของลูกหนี้ภายใต้การกำกับดูแลของศาลตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/25, 90/59 และ 90/67 ซึ่งเป็นบทกฎหมายพิเศษ แต่กรรมการบริษัทแต่งตั้งได้เฉพาะที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้นและต้องจัดการกิจการและทรัพย์สินตามข้อบังคับของบริษัทและอยู่ภายใต้การครอบงำของที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้นตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1144 และมาตรา 1151 ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีที่มาและขอบข่ายของอำนาจหน้าที่แตกต่างกัน ดังนั้นผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนจึงไม่อยู่ในฐานะเช่นเดียวกับกรรมการบริษัทและในระหว่างการฟื้นฟูกิจการบริษัทลูกหนี้ โจทก์ผู้ถือหุ้นของบริษัทลูกหนี้ได้ถูกตัดสิทธิในการควบคุมกำกับดูแลการจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้โดยบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษแล้ว และอีกทั้งผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนไม่อยู่ในฐานะเช่นเดียวกับกรรมการของบริษัทลูกหนี้ โดยเฉพาะจำเลยที่ 3 เป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และกรรมการเจ้าหนี้ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่จัดการกิจการและทรัพย์สิน และไม่ได้อยู่ในฐานะเช่นเดียวกับกรรมการบริษัทลูกหนี้ด้วย โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นบริษัทลูกหนี้ยกคดีขึ้นฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้โดยอาศัยสิทธิตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่งได้
ที่ศาลล่างทั้งสองไม่คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นศาลชั้นให้โจทก์ เนื่องจากศาลชั้นต้นได้พิจารณาคำฟ้องของโจทก์ก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยในเนื้อหาที่โจทก์บรรยายไว้ในฟ้องอันเป็นประเด็นแห่งคดีก่อนพิพากษายกฟ้องแล้ว จึงเป็นกรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 131 (2) ประกอบมาตรา 172 วรรคสาม มิใช่คำสั่งไม่รับคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ที่จะต้องคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 บัญญัติให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิฟ้องเฉพาะกรรมการผู้ทำให้บริษัทเสียหายเท่านั้น หากบุคคลภายนอกก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทก็เป็นเรื่องของบริษัทจะฟ้องร้องบุคคลภายนอกเสียเอง โจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปจัดการแทนบริษัทได้ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามเป็นบุคคลภายนอก มิใช่กรรมการของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด หากจำเลยทั้งสามร่วมกันทำละเมิดต่อบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด และทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ก็เป็นเรื่องที่บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด จะฟ้องร้องจำเลยทั้งสามเอง โจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นจึงไม่มีอำนาจฟ้องร้องแทนบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ได้ แม้ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะขอให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ก็ตาม อำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง จึงมีคำสั่งให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามฟ้องฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ลูกหนี้ เมื่อปี 2542 จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทลูกหนี้ และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2543 ให้ฟื้นฟูกิจการตามคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.5/2543 ของศาลล้มละลายกลางเป็นผลให้อำนาจหน้าที่ของกรรมการในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้สิ้นสุดลงตามมาตรา 90/20 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 และเมื่อศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำแผนแล้วอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้ตกอยู่แก่จำเลยที่ 2 ผู้ทำแผน และเมื่อในที่สุดที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแผนแล้วเป็นผลให้อำนาจในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้ตกเป็นของจำเลยที่ 1 ผู้บริหารแผน ตั้งแต่ได้รับทราบคำสั่งศาลตามมาตรา 90/25 และมาตรา 90/59 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ในระหว่างดำเนินการฟื้นฟูกิจการโจทก์ฟ้องคดีนี้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า นอกจากอำนาจการจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้แล้วตามบทบัญญัติมาตรา 90/25 และมาตรา 90/59 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ยังได้บัญญัติให้บรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของบริษัทลูกหนี้ยกเว้นเฉพาะสิทธิที่จะได้เงินปันผลตกแก่ผู้ทำแผน และในที่สุดตกแก่ผู้บริหารแผน คือจำเลยที่ 2 และที่ 1 ตามลำดับด้วย ที่โจทก์อ้างในฎีกาว่า สิทธิของผู้ถือหุ้นที่จะขอตรวจดูเอกสารบันทึกรายงานการประชุม สิทธิที่จะได้รับสำเนางบดุลบัญชีของบริษัท สิทธิในการขอรับสำเนาทะเบียนผู้ถือหุ้น สิทธิในการเข้าประชุมในที่ประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1207, 1197, 1140 และ 1176 เป็นสิทธิที่กฎหมายได้กำหนดไว้เป็นเรื่องเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับตัวของผู้ถือหุ้นคนนั้น ๆ เท่านั้น เช่นเดียวกับสิทธิในการรับเงินปันผลตามมาตรา 1201 ซึ่งต่างกับสิทธิของผู้ถือหุ้นตามบทบัญญัติในมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง ที่ให้ผู้ถือหุ้นมีอำนาจฟ้องกรรมการแทนบริษัทได้ ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้มีบทบัญญัติระบุไว้เลยว่า สิทธิของผู้ถือหุ้นดังกล่าวมีข้อจำกัดที่จะต้องเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องเฉพาะเรื่องในส่วนของผู้ถือหุ้นแต่ละคนเท่านั้น จึงเป็นสิทธิที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนจะเข้าควบคุม กำกับ ดูแล เพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทได้ในลักษณะเดียวกับสิทธิที่จะฟ้องกรรมการตามมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง ต่างกันแต่เพียงว่าสิทธิอื่น ๆ ข้างต้นนั้น เป็นการดำเนินการกันอยู่ภายในบริษัท ส่วนสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง ให้สิทธิผู้ถือหุ้นใช้สิทธิควบคุมดูแลโดยผ่านทางศาลได้ ดังนั้นจึงมิใช่สิทธิเป็นการเฉพาะส่วนของตัว และต้องอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/25 และ 90/59 เช่นเดียวกัน ส่วนที่โจทก์อ้างในฎีกาว่าพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการรับผิดทางแพ่งในความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/67 ได้บัญญัติกระบวนการควบคุมตรวจสอบการจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้ไว้แล้ว ซึ่งถ้าหากมีการจัดการไม่เป็นไปตามแผนหรือโดยทุจริต หรือทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ ก็มีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ คณะกรรมการเจ้าหนี้หรือผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้ตรวจสอบ สามารถรายงานหรือมีคำขอโดยทำเป็นคำร้องโดยตรงขอให้ศาลที่กำกับการจัดการอยู่อีกชั้นหนึ่งมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรได้ ซึ่งเป็นการตรวจสอบควบคุมและกำกับดูแลที่กว้างขวาง รวดเร็วและรัดกุมมากยิ่งกว่าที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติถึงสิทธิการตรวจสอบครอบงำการปฏิบัติงานของกรรมการบริษัทเสียอีก นอกจากนี้ผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนเข้ามาจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้โดยความยินยอมของที่ประชุมเจ้าหนี้และด้วยความเห็นชอบของศาล โดยให้ดำเนินการไปตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทลูกหนี้อยู่ภายใต้การตรวจสอบของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรรมการเจ้าหนี้และผู้บริหารของลูกหนี้ภายใต้การกำกับดูแลของศาลตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/25, 90/59 และ 90/67 ซึ่งเป็นบทกฎหมายพิเศษ แต่กรรมการบริษัทแต่งตั้งได้เฉพาะที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้นและต้องจัดการกิจการและทรัพย์สินตามข้อบังคับของบริษัทและอยู่ภายใต้การครอบงำของที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1144 และมาตรา 1151 ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีที่มาและขอบข่ายของอำนาจหน้าที่แตกต่างกัน ดังนั้นผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนจึงไม่อยู่ในฐานะเช่นเดียวกับกรรมการบริษัทด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นเป็นผลให้ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการบริษัทลูกหนี้ โจทก์ผู้ถือหุ้นของบริษัทลูกหนี้ได้ถูกตัดสิทธิในการควบคุมกำกับดูแลการจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้โดยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษแล้ว และอีกทั้งผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนไม่อยู่ในฐานะเช่นเดียวกับกรรมการของบริษัทลูกหนี้ โดยเฉพาะจำเลยที่ 3 เป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และกรรมการเจ้าหนี้ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่จัดการกิจการและทรัพย์สิน และไม่ได้อยู่ในฐานะเช่นเดียวกับกรรมการบริษัทลูกหนี้ด้วย โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นบริษัทลูกหนี้ยกคดีขึ้นฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้โดยอาศัยสิทธิตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 วรรคหนึ่งได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาข้อต่อไปว่า ศาลล่างทั้งสองไม่คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นศาลชั้นต้นให้โจทก์ ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นได้พิจารณาคำฟ้องของโจทก์ก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยในเนื้อหาที่โจทก์บรรยายไว้ในฟ้องอันเป็นประเด็นแห่งคดีก่อนพิพากษายกฟ้องแล้ว จึงเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131 (2) ประกอบมาตรา 172 วรรคสาม มิใช่คำสั่งไม่รับคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 ที่จะต้องคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 วรรคหนึ่ง ไม่ ที่ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษามาศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ