คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1204/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าบุหรี่ซิกาแรตที่มีเครื่องหมายการค้าสองยี่ห้อซึ่งปลอมเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายที่จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 แต่โจทก์อ้างบทมาตรา 111 มาในคำขอท้ายฟ้องอันเป็นการอ้างบทมาตราผิด และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวตามมาตรา 111 ประกอบมาตรา 108 ซึ่งเป็นบทมาตราผิดไปตามที่โจทก์ขอ
การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาสูบฯ ไม่ถูกต้อง เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและลงโทษจำเลยตามบทมาตราที่ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า, 195 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีไว้ในครอบครองและมีไว้เพื่อขายซึ่งบุหรี่ซิกาแรตยี่ห้อ กรองทิพย์ 90 จำนวน 1,000 ซอง และบุหรี่ซิกาแรตยี่ห้อ สายฝน จำนวน 1,000 ซอง น้ำหนักรวม 40,000 กรัม ที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบซึ่งจะต้องปิดซองละ 26.25 บาท รวมเป็นค่าแสตมป์ยาสูบทั้งสิ้น 52,500 บาท โดยจำเลยมิได้เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบและจำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปซึ่งสินค้าบุหรี่ซิกาแรต อันเป็นยาสูบที่มีเครื่องหมายการค้าทั้งสองยี่ห้อดังกล่าวปลอม รวมจำนวน 2,000 ซอง ของโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ผู้เสียหาย ที่มีผู้ปลอมเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายปรากฏอยู่ที่ตัวสินค้าและหีบห่อวัตถุกระดาษที่ใช้ห่อหุ้ม โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นโดยทำปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 4, 19, 24, 44, 49, 50 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 108, 111, 115 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 90, 91 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 19, 24, 49, 50 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักตามมาตรา 24, 50 และมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 111 ประกอบมาตรา 108 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งยาสูบเกินกว่าห้าร้อยกรัมที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบปรับ 787,500 บาท ฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมปรับ 500 บาท รวมโทษปรับทุกกระทงเป็นเงิน 788,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงปรับ 394,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลางเป็นของกรมสรรพสามิต
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่า จำเลยซื้อบุหรี่ซิกาแรตดังกล่าวมาโดยไม่ทราบว่าเป็นสินค้าที่ไม่ได้ปิดแสตมป์ยาสูบและเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมอันเป็นอุทธรณ์ทำนองว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดนั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ว่า จำเลยมีไว้ในครอบครองและมีไว้เพื่อขายซึ่งบุหรี่ซิกาแรตที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ และมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม อุทธรณ์ดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่ จำเลยอ้างว่าบุหรี่ซิกาแรตยี่ห้อกรองทิพย์และยี่ห้อสายฝนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองและมีไว้เพื่อขาย และที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายอันมีเครื่องหมายการค้าปลอม เป็นสินค้าจำนวนเดียวกันและถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดไว้ในคราวเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท นั้น เห็นว่า ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติที่มีโทษทางอาญาคนละฉบับกัน มีองค์ประกอบความผิดแตกต่างกัน กล่าวคือ การมีไว้ในครอบครองและมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 ส่วนการมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งสามารถแยกการกระทำแต่ละอย่างต่างหากจากกันได้ ประกอบกับโจทก์บรรยายความผิดข้อหามียาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมายไว้ในครอบครองเกินกว่าห้าร้อยกรัม และข้อหามีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบในฟ้อง ข้อ 2.1 และบรรยายความผิดข้อหามีไว้เพื่อจำหน่าย ซึ่งสินค้าที่มีตราเครื่องหมายการค้าปลอมแยกมาในฟ้องข้อ 2.2 โดยอ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาด้วย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อมาว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางลงโทษปรับสูงเกินไปหรือไม่ เห็นว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง, 50 มีระวางโทษปรับสิบห้าเท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิด ค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิดในคดีนี้คือ 52,500 บาท จึงต้องลงโทษปรับ 787,500 บาท ตามอัตราที่กฎหมายบัญญัติไว้ ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปีหรือปรับไม่เกินสี่แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางลงโทษปรับเพียง 500 บาท นั้นนับว่าเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้ว แม้จำเลยมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูครอบครัว ก็ไม่มีเหตุที่จะลงโทษให้ต่ำกว่าที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนด อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าบุหรี่ซิกาแรตที่มีเครื่องหมายการค้าสองยี่ห้อดังกล่าวซึ่งปลอมเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายที่จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 แต่โจทก์อ้างบทมาตรา 111 มาในคำขอท้ายฟ้องอันเป็นการอ้างบทมาตราผิดและศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวตามมาตรา 111 ประกอบมาตรา 108 ซึ่งเป็นบทมาตราผิดไปตามที่โจทก์ขอ นอกจากนี้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 ไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและลงโทษจำเลยตามบทมาตราที่ถูกต้องได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า, 195 วรรคสอง”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง, 24 วรรคหนึ่ง, 49, 50 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share