คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 354/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมเดินทางไปกับจำเลยที่ 2 เพื่อไปยิงแก้แค้น ช. ซึ่งเคยยิงจำเลยที่ 2 มาก่อน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ทราบดีว่าจำเลยที่ 2 นำอาวุธปืนติดตัวไปด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 2 ฆ่า ช. และเมื่อพบผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 ยิงผู้เสียหายโดยเข้าใจว่าเป็น ช. ย่อมเป็นการกระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดตาม ป.อ. มาตรา 61 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 ไม่อาจยกเอาความสำคัญผิดดังกล่าวมาเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้มีเจตนาร่วมฆ่าผู้เสียหายได้ ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 2 ฆ่าผู้เสียหายด้วย ฉะนั้น เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาฆ่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงมีความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 2 พยายามฆ่าผู้เสียหาย

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณากับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 246/2547 ของศาลชั้นต้น โดยเรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยสองสำนวนนี้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามลำดับ และเรียกจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 246/2547 ของศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 2 แต่คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีสองสำนวนนี้
โจทก์ฟ้องทั้งสามสำนวนขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 83, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371 ประกอบมาตรา 80, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำผิดของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำผิดจำเลยทั้งสามมีอายุคนละ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุกคนละ 5 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนเข้าไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะ เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 เดือน รวมจำคุกคนละ 5 ปี 9 เดือน คำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสามในชั้นสอบสวนมีประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้คนละหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 3 ปี 15 เดือน 22 วัน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยทั้งสามไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 6 จังหวัดนครสวรรค์ มีกำหนดขั้นต่ำคนละ 3 ปี ขั้นสูงคนละ 4 ปี นับแต่วันพิพากษา ริบของกลาง
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในฐานความผิดพยายามฆ่าผู้เสียหาย ให้ส่งตัวจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไปฝึกอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมเดินทางไปกับจำเลยที่ 2 เพื่อไปยิงแก้แค้นนายชัยวัฒน์หรือโป้ วีระพงษ์ ซึ่งเคยยิงจำเลยที่ 2 มาก่อน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ทราบดีว่าจำเลยที่ 2 นำอาวุธปืนติดตัวไปด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 2 ฆ่านายชัยวัฒน์ และเมื่อพบผู้เสียหายกับพวก จำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงไปที่กลุ่มผู้เสียหาย โดยจำเลยที่ 2 เข้าใจว่าเป็นกลุ่มของนายชัยวัฒน์ กรณียุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ว่า จำเลยที่ 2 ยิงผู้เสียหายโดยเข้าใจผิดว่าเป็นนายชัยวัฒน์ คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ที่จำเลยที่ 2 ยิงผู้เสียหายโดยเข้าใจผิดว่าเป็นนายชัยวัฒน์ ย่อมเป็นการกระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 61 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 ไม่อาจยกเอาความสำคัญผิดดังกล่าวมาเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้มีเจตนาร่วมฆ่าผู้เสียหายได้ ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 2 ฆ่าผู้เสียหายด้วย ฉะนั้น เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาฆ่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงมีความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 2 พยายามฆ่าผู้เสียหายตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นว่า การยิงโดยผิดตัวเป็นเจตนาของจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายหรือร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นอีกสถานหนึ่ง ให้บังคับคดีจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่การควบคุมเพื่อฝึกและอบรมเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์แล้วให้ปล่อยตัวไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share