คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3034/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องมีสาระสำคัญเพียงว่าเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2547 เวลากลางคืนหลังเที่ยงต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสามร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในงานแพร่เสียงแพร่ภาพของผู้เสียหายทั้งห้า ด้วยการส่งหรือรับภาพด้วยคลื่นความถี่ ด้วยวิธีการแพร่กระจายไปในตัวนำไฟฟ้า ในงานอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งห้าเหตุเกิดที่ ต.หายยา อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงมีความชัดแจ้งเพียงเฉพาะข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ แต่เมื่อมิได้บรรยายให้ชัดเจนว่า งานแพร่เสียงแพร่ภาพอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายแต่ละรายที่ถูกละเมิดในช่วงเวลาและสถานที่ดังกล่าวคือรายการใดบ้าง และรายการใดเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายรายใด มีรายละเอียดของลักษณะงานพอสังเขปเช่นใด จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่อาจทำให้จำเลยทั้งสามเข้าใจและต่อสู้ถึงการมีลิขสิทธิ์ในรายการแต่ละรายการและความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายแต่ละราย รวมทั้งลักษณะการกระทำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ต่องานแพร่เสียงแพร่ภาพส่วนที่มีลิขสิทธิ์ได้ ถือไม่ได้ว่าฟ้องของโจทก์บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำผิด และข้อเท็จจริงอีกทั้งรายละเอียดที่เกี่ยวกับบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2547 เวลากลางคืนหลังเที่ยงต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสามร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในงานแพร่เสียงแพร่ภาพ โดยการสร้างสรรค์งานเพื่อส่งวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ ด้วยการส่งหรือรับภาพด้วยคลื่นความถี่ด้วยวิธีแพร่กระจายไปในบรรยากาศหรือตัวนำไฟฟ้าของยาร์ราตัน ลิมิเต็ด ผู้เสียหายที่ 1 บีวี โฮลดิ้งส์ อินคอร์ปอเรตเต็ด ผู้เสียหายที่ 2 บีวีโฮลดิ้งส์ ยูเอสเอแอลแอลซี ผู้เสียหายที่ 3 ห้างหุ้นส่วนสามัญอีจีพี โค. ผู้เสียหายที่ 4 และห้างหุ้นส่วนสามัญอีเอสพีเอ็น สตาร์ สปอร์ตส ผู้เสียหายที่ 5 โดยร่วมกันนำผลงานการแพร่เสียงแพร่ภาพ โดยการสร้างสรรค์งานเพื่อส่งวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ ด้วยการส่งหรือรับภาพด้วยคลื่นความถี่ ด้วยวิธีการแพร่กระจายไปในตัวนำไฟฟ้าอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งห้า ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยเรียกเก็บค่าบริการอันเป็นการแสวงหากำไรในทางการค้า โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายทั้งห้าอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าพนักงานยึดสำเนาใบรายงานการติดตั้งและใบแจ้งค่าบริการของจำเลยที่ 1 จำนวน 2 แผ่น สำเนาบิลเงินสดจำนวน 1 แผ่น และสำเนาสัญญาเช่าจำนวน 1 แผ่น เป็นของกลาง ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2547 จำเลยทั้งสามมอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 15, 27, 28, 29, 69, 75, 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์ให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ยาร์ราตัน ลิมิเต็ด ผู้เสียหายที่ 1 ห้างหุ้นส่วนสามัญอีจีพี โค. ผู้เสียหายที่ 4 และห้างหุ้นส่วนสามัญอีเอสพีเอ็น สตาร์ สปอร์ตส ผู้เสียหายที่ 5 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสามประการแรกว่าฟ้องโจทก์บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องมีสาระสำคัญเพียงว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2547 เวลากลางคืนหลังเที่ยงต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสามร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในงานแพร่เสียงแพร่ภาพของผู้เสียหายทั้งห้า ด้วยการส่งหรือรับภาพด้วยคลื่นความถี่ ด้วยวิธีการแพร่กระจายไปในตัวนำไฟฟ้า ในงานอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งห้า เหตุเกิดที่ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงมีความชัดแจ้งเพียงเฉพาะข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ แต่เมื่อมิได้บรรยายให้ชัดเจนว่า งานแพร่เสียงแพร่ภาพอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายแต่ละรายที่ถูกละเมิดในช่วงเวลาและสถานที่ดังกล่าวคือรายการใดบ้างและรายการใดเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายรายใด มีรายละเอียดของลักษณะงานพอสังเขปเช่นใด จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่อาจทำให้จำเลยทั้งสามเข้าใจและต่อสู้ถึงการมีลิขสิทธิ์ในรายการแต่ละรายการและความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายแต่ละรายรวมทั้งลักษณะการกระทำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ต่องานแพร่เสียงแพร่ภาพส่วนที่มีลิขสิทธิ์ได้ ถือไม่ได้ว่าฟ้องของโจทก์บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำผิดและข้อเท็จจริงอีกทั้งรายละเอียดที่เกี่ยวกับบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นคำฟ้องที่ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสามฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาตามอุทธรณ์ข้ออื่น เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป”
พิพากษายืน

Share