คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3981/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยจะได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีฯ ซึ่งให้ถือว่าผู้นั้นมิเคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ก็มีผลเพียงให้ถือว่าผู้ต้องโทษไม่เคยถูกลงโทษจำคุกเท่านั้น มิได้มีผลถึงกับให้ถือว่าความประพฤติหรือการกระทำอันเป็นเหตุให้บุคคลนั้นถูกลงโทษจำคุกถูกลบล้างไปด้วย ศาลล่างทั้งสองจึงนำข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยเคยกระทำความผิดมาก่อนตามที่ปรากฏในรายงานการสืบเสาะและพินิจมาประกอบการใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควร บุกรุกเข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของนายไพศาล คำกลิ่น ผู้เสียหายที่ 1 แล้วใช้อาวุธมีดพร้า ซึ่งได้มีติดตัวไปด้วยฟันทำร้ายร่างกายพลทหารวรากร ชูมณี ผู้เสียหายที่ 2 ที่บริเวณศีรษะด้านขวา 1 ครั้ง เป็นเหตุให้ผู้เสียที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัสเป็นบาดแผลฉีกขาดลึกถึงกะโหลกศีรษะต้องทุพพลภาพป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน เหตุเกิดที่ตำบลท่าเรือ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364, 365 (2) (3), 297
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (ที่ถูก มาตรา 297 (8) ), 365 (2) (3) ประกอบมาตรา 364 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหลักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 1 ปี เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุก 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยมีอาวุธมีดพร้า 1 เล่ม บุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายที่ 1 ในเวลากลางคืน แล้วใช้อาวุธมีดพร้าดังกล่าวฟันผู้เสียหายที่ 2 ที่บริเวณศีรษะซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ เป็นบาดแผลตั้งแต่ใต้หางคิ้วขวาตัดผ่านหูไปทางศีรษะด้านข้างยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ลึกถึงกะโหลกศีรษะ เป็นการกระทำที่อุกอาจไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายและเป็นการข่มเหงรังแกผู้อื่น พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า แม้จำเลยจะเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลในความผิดตามพระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ.2533 แต่จำเลยพ้นโทษมาเมื่อปี 2538 จำเลยจึงได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ.2539 มาตรา 4 ที่บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2539 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับหรือซึ่งได้พ้นไปโดยผลแห่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2539 โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิเคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ก็มีผลเพียงให้ถือว่าผู้ต้องโทษไม่เคยถูกลงโทษจำคุกเท่านั้น มิได้มีผลถึงกับให้ถือว่าความประพฤติหรือการกระทำอันเป็นเหตุให้บุคคลนั้นถูกลงโทษจำคุกถูกลบล้างไปด้วย ศาลล่างทั้งสองจึงนำข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยเคยกระทำความผิดมาก่อนตามที่ปรากฏในรายงานการสืบเสาะและพินิจมาประกอบการใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาอ้างว่า จำเลยได้วางเงินต่อศาลเพื่อเป็นการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองแล้วและจำเลยมีภาระต้องเสียงดูครอบครัว ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share