คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2040/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคสี่ แม้จะใช้ถ้อยคำว่าศาลจังหวัดก็ตาม แต่เจตนารมณ์ของกฎหมายที่บัญญัติความในวรรคสี่ไว้เนื่องจากไม่ประสงค์ให้ศาลชั้นต้นที่มีศาลแขวงตั้งอยู่ในเขตศาลนั้นรับพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นในเขตของศาลแขวงและอยู่ในอำนาจของศาลแขวง เมื่อศาลแพ่งธนบุรีเป็นศาลชั้นต้นที่มีศาลแขวงธนบุรีและศาลแขวงตลิ่งชันตั้งอยู่ในเขตจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติดังกล่าวด้วย การที่โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งธนบุรีต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องโดยลดจำนวนทุนทรัพย์ลงเป็นเหตุให้คดีของโจทก์เป็นคดีที่เกิดขึ้นในเขตของศาลแขวงธนบุรีและอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแขวงธนบุรี ศาลแพ่งธนบุรีจึงต้องโอนคดีไปยังศาลแขวงธนบุรี

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ว่า เป็นหนี้โจทก์จำนวน 390,000 บาท ตกลงผ่อนชำระโดยจะออกเช็คฉบับละ 19,500 บาท จำนวน 20 ฉบับ แบ่งจ่ายเป็น 2 งวด งวดละ 10 ฉบับ โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้เชิดจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของตนหรือยอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเอง เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 นำรายการจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างไม่ประจำทางหมายเลขทะเบียน 30-4287 กรุงเทพมหานคร มาเป็นประกันการชำระหนี้ทั้งหมด หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด ยินยอมให้โจทก์ฟ้องบังคับชำระหนี้พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คงวดแรกจำนวน 10 ฉบับ สั่งจ่ายเงินฉบับละ 19,500 บาท และเช็ค 3 ฉบับ ที่จำเลยที่ 1 ออกให้ดังกล่าวเป็นเช็คเลขที่ 1924157, 1924158 และ 1924159 เรียกเก็บเงินไม่ได้โดยธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินว่า บัญชีปิดแล้วทั้ง 3 ฉบับ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินตามเช็คดังกล่าวและไม่ได้ออกเช็คผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์ตามข้อตกลง จึงเป็นการผิดนัดผิดสัญญาและยังคงค้างชำระหนี้อยู่ 253,500 บาท ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 114,075 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดชำระเงินจำนวน 367,575 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 253,500 บาท จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
วันที่ 19 มกราคม 2547 โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องในส่วนของยอดหนี้ว่า จำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์จำนวน 30,000 บาท และเมื่อรวมยอดต้นเงินที่ค้างชำระ และดอกเบี้ยถึงวันฟ้องแล้วเป็นเงินจำนวน 327,487.50 บาท โดยขอแก้ไขทุนทรัพย์ตามคำฟ้องเป็นจำนวน 327,487.50 บาท และขอแก้ไขคำขอท้ายฟ้องเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 327,487.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 223,500 บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์ให้เงินจำเลยที่ 1 กู้ยืมโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดและค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ยอยู่ประมาณ 100,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ประสงค์จะขอกู้เงินอีก 200,000 บาท โจทก์จึงนำยอดหนี้ที่ค้างชำระทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 100,000 บาท ดังกล่าวมารวมกับจำนวนต้นเงิน 200,000 บาท ที่ขอกู้ใหม่เป็น 300,000 บาท แล้วตกลงให้ผ่อนชำระคืนภายใน 20 เดือน โดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน ในต้นเงิน 300,000 บาท เป็นดอกเบี้ย 90,000 บาท รวมเป็นเงิน 390,000 บาท แล้วให้จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ว่าเป็นหนี้โจทก์จำนวน 390,000 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ออกเช็คชำระหนี้ 20 ฉบับ สั่งจ่ายเงินฉบับละ 19,500 บาท โดยนำทะเบียนรถยนต์โดยสารไม่ประจำทางคันหมายเลขทะเบียน 30-4287 กรุงเทพมหานคร ไปให้โจทก์ยึดถือเป็นประกันด้วย จำเลยที่ 2 ได้ออกเช็คให้โจทก์ 10 ฉบับ สั่งจ่ายเงินฉบับละ 19,500 บาท เช็ค 3 ฉบับแรกโจทก์นำไปเรียกเก็บเงินได้ ส่วนเช็คฉบับที่ 4 ถึงฉบับที่ 6 เป็นเช็คตามฟ้องซึ่งครั้งแรกโจทก์ไม่ได้นำไปเรียกเก็บโดยจำเลยขอผัดผ่อนด้วยการส่งดอกเบี้ย และแก้ไขวันที่ในเช็คและลงลายมือชื่อกำกับไว้ ส่วนเช็คฉบับที่ 7 ถึงฉบับที่ 10 โจทก์เรียกเก็บเงินได้ จึงเป็นเช็คที่โจทก์เรียกเก็บเงินได้รวม 7 ฉบับ หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ไม่มีเช็คจะชำระให้โจทก์อีกตามข้อตกลง แต่ได้ส่งดอกเบี้ยและต่อมาได้ทยอยผ่อนชำระรวมเป็นเงินจำนวน 303,000 บาท ซึ่งถือว่าได้ชำระหนี้ทั้งหมดแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 87,000 บาท เป็นจำนวนดอกเบี้ยที่โจทก์คิดเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และนำมารวมเป็นยอดต้นเงิน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์อีก ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเป็นครั้งที่สองว่า โจทก์ได้รับเช็คมาเพียง 6 ฉบับ มิใช่ 10 ฉบับ ดังที่บรรยายในคำฟ้องครั้งแรก และในจำนวน 6 ฉบับที่ได้รับมาเรียกเก็บเงินได้เพียง 3 ฉบับ โดยเช็คที่เรียกเก็บเงินไม่ได้คือเช็ค 3 ฉบับ ที่โจทก์บรรยายในคำฟ้องครั้งแรกสำหรับเช็คหมายเลข 1925160 ถึง 1925163 จำเลยที่ 1 มิได้สั่งจ่ายให้แก่โจทก์และขอยกเลิกคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องครั้งก่อนทั้งหมด โดยแก้ไขในส่วนของการชำระหนี้ใหม่ว่า ภายหลังจากนั้นมีการทยอยชำระหนี้รวม 6 ครั้ง เป็นเงิน 127,500 บาท จำเลยที่ 1 จึงค้างชำระหนี้อยู่จำนวน 274,443 บาท และแก้ไขทุนทรัพย์จากจำนวน 327,487.50 บาท เป็น 274,443 บาท กับแก้ไขคำขอท้ายฟ้องเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 274,443 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 274,443 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องได้ ยกเว้นข้อความที่ว่า “ส่วนเช็ค หมายเลข 1925160 ถึง 1925163 จำเลยที่ 1 มิได้สั่งจ่ายให้แก่โจทก์แต่อย่างใด” เพราะเห็นว่าเป็นการแก้ไขตามคำให้การของจำเลยทั้งสี่ ซึ่งโจทก์สามารถที่จะนำสืบได้ในชั้นพิจารณา และเนื่องจากเมื่อแก้ไขคำฟ้องแล้วเป็นเหตุให้ทุนทรัพย์ลดลงเหลือเพียง 274,443 บาท ซึ่งไม่เกิน 300,000 บาท คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลชั้นต้น ให้คืนฟ้องแก่โจทก์เพื่อให้ไปฟ้องใหม่ยังศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีต่อไป ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โอนคดีไปยังศาลแขวงธนบุรี ไม่คืนค่าขึ้นศาลชั้นต้นแก่โจทก์ ค่าฤาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องครั้งที่สองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องครั้งที่สองเกี่ยวกับจำนวนเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายให้แก่โจทก์และจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับชำระหนี้ไปบางส่วนตามหนังสือรับสภาพหนี้ ซึ่งจำเลยทั้งสี่ได้ให้การต่อสู้ไว้แล้วทำให้จำเลยทั้งสี่เสียเปรียบและหลงข้อต่อสู้นั้น เห็นว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องครั้งที่สองโดยรับข้อเท็จจริงบางส่วนตามคำให้การของจำเลยทั้งสี่ เป็นการขอลดทุนทรัพย์ฟ้องเดิมภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ และคดีนี้ศาลชั้นต้นยังไม่ได้สืบพยานโจทก์และพยานจำเลย จึงยังอยู่ภายในกำหนดเวลาที่จำเลยทั้งสี่จะแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยทั้งสี่ เพื่อหักล้างข้ออ้างของโจทก์ได้ การแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่ทำให้จำเลยทั้งสี่เสียเปรียบและหลงข้อต่อสู้แต่ประการใด ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาต่อไปว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่าเมื่อโจทก์แก้ไขคำฟ้องแล้วคงมีทุนทรัพย์เพียง 274,443 บาท ไม่ถึง 300,000 บาท อันเป็นผลให้คดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแพ่งธนบุรี จึงให้โอนคดีไปยังศาลแขวงธนบุรีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคสี่ ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัด และคดีนั้นเกิดขึ้นในเขตของศาลแขวงและอยู่ในอำนาจของศาลแขวงให้ศาลจังหวัดนั้นมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงที่มีเขตอำนาจ” นั้น แม้จะใช้ถ้อยคำว่าศาลจังหวัดก็ตาม แต่เจตนารมณ์ของกฎหมายที่บัญญัติความในวรรคสี่ไว้เนื่องจากไม่ประสงค์ให้ศาลชั้นต้นที่มีศาลแขวงตั้งอยู่ในเขตศาลนั้นรับพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นในเขตของศาลแขวงและอยู่ในอำนาจของศาลแขวง เมื่อศาลแพ่งธนบุรีเป็นศาลชั้นต้นที่มีศาลแขวงธนบุรีและศาลแขวงตลิ่งชันตั้งอยู่ในเขตจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติดังกล่าวด้วย คดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องโดยลดจำนวนทุนทรัพย์ลงเป็นเหตุให้คดีของโจทก์เป็นคดีที่เกิดขึ้นในเขตของศาลแขวงและอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแขวง ศาลแพ่งธนบุรีจึงต้องมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงธนบุรีซึ่งเป็นศาลแขวงที่มีเขตอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share