คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3865/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ได้มี พ.ร.บ.ยกเว้นความผิดทางอาญาให้แก่ผู้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่กฎหมายห้ามออกใบอนุญาตมามอบให้แก่ทางราชการฯ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2546 โดยมาตรา 3 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดให้นำวัตถุต้องห้ามดังกล่าวมามอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับแล้ว ให้ผู้นั้นได้รับยกเว้นจากความผิดทางอาญาตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์ ดังนั้น เมื่อจำเลยมีอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2546 ซึ่งยังอยู่ในระยะเวลาที่จำเลยจะนำอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางไปมอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ได้ จำเลยย่อมได้รับยกเว้นความผิดในความผิดฐานมีอาวุธปืน ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2546 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยมีอาวุธปืนพกลูกซอง ชนิดประกอบขึ้นเอง ขนาด 12 ไม่มีเครื่องหมายทะเบียน 1 กระบอก และกระสุนปืนขนาดเดียวกัน 3 นัด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและพาอาวุธปืนและกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปบริเวณถนนหน้าโรงแรมปทุมเพลสอันเป็นเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และไม่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ เจ้าพนักงานจับจำเลยและยึดอาวุธปืนกับกระสุนปืนดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91, 371 ริบอาวุธปืนของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธปืน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ริบอาวุธปืนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ได้มีพระราชบัญญัติยกเว้นความผิดทางอาญาให้แก่ผู้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่กฎหมายห้ามออกใบอนุญาต มามอบให้แก่ทางราชการ พ.ศ.2546 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2546 โดยมาตรา 3 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า “ผู้ใดมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่กฎหมายห้ามออกใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ถ้าได้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดดังกล่าวมามอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ผู้นั้นได้รับยกเว้นจากความผิดทางอาญาตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์” เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องรับฟังได้ว่า จำเลยมีอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2546 ซึ่งยังอยู่ในระยะเวลาที่จำเลยจะนำอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางไปมอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ได้ จำเลยย่อมได้รับยกเว้นความผิดในความผิดฐานมีอาวุธปืน ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า การที่จำเลยพาอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางติดตัวไปบริเวณถนนหน้าโรงแรมปทุมเพลสโดยไม่ได้รับใบอนุญาตในเวลากลางคืนซึ่งเป็นยามวิกาล อาจก่อให้เกิดเหตุร้ายและเป็นอันตรายต่อสุจริตชนทั่วไปในละแวกนั้นได้ นับเป็นการกระทำความผิดที่อุกอาจ ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์ในการกระทำความผิดแล้ว ที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกาว่า จำเลยไม่เคยกระทำความผิดใดๆ มาก่อนและจำเลยเป็นกำลังสำคัญในการหาเลี้ยงครอบครัวนั้น ไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานมีอาวุธปืน คงจำคุกจำเลยฐานพาอาวุธปืนมีกำหนด 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share