แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2545 จำเลยที่ 4 ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 มีข้อความประทับด้วยตรายางของศาลชั้นต้นว่า “ข้าพเจ้าจะมาฟังคำสั่งภายใน 7 วันนับแต่วันนี้ หากไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว” โดยมีทนายจำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อไว้ใต้ข้อความดังกล่าว ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ในวันที่ 17 ธันวาคม 2545 ซึ่งเป็นวันหลังจากที่จำเลยที่ 4 ยื่นอุทธรณ์แล้วก็ตาม แต่การที่ทนายความจำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อรับทราบวันนัดให้มาฟังคำสั่งศาลชั้นต้นเป็นการแสดงเจตนายอมรับว่าจะมาฟังคำสั่งภายในวันดังกล่าวถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 4 ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว อย่างช้าวันที่ 20 ธันวาคม 2545 เมื่อจำเลยที่ 4 เพิกเฉยไม่จัดการนำส่งสำเนาอุทธรณ์ภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ จึงเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 แต่อย่างไรก็ตามแม้จำเลยที่ 4 จะทิ้งฟ้องอุทธรณ์แล้ว ศาลก็ยังมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจว่าจะสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ สำหรับคดีนี้พฤติการณ์แห่งคดีปรากฏว่าเป็นกรณีที่จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้อุทธรณ์วางเงินค่าธรรมเนียมในการส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์ล่าช้าจนล่วงเลยเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่ก็ได้ดำเนินการส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์ให้โจทก์จนกระทั่งโจทก์ได้รับสำเนาอุทธรณ์และยื่นคำแก้อุทธรณ์แล้ว กรณียังไม่สมควรที่จะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 4 ยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2545 ว่า รับอุทธรณ์จำเลยที่ 4 ให้ผู้อุทธรณ์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้อีกฝ่ายภายใน 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ ต่อมาวันที่ 14 มกราคม 2546 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 4 ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 4 นำส่งสำเนาอุทธรณ์และคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีแล้วหรือไม่ เจ้าหน้าที่ของศาลชั้นต้นรายงานว่า จำเลยที่ 4 ได้นำเงินค่าธรรมเนียมในการส่งสำเนาอุทธรณ์มาวางศาลแล้วเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2546 ครั้นวันที่ 31 มกราคม 2546 จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนอ้างว่าศาลชั้นต้นมีการเคลื่อนย้ายสำนวนเนื่องจากมีการเปลี่ยนห้องเก็บสำนวน ทำให้ยากต่อการตรวจสอบคำสั่งของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 4 ได้ติดตามเพื่อจะทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยตลอด แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าหาสำนวนไม่พบ จำเลยที่ 4 มิได้จงใจที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้นภายในเวลาที่กำหนด ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 5 เพื่อสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจำเลยที่ 4 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจำเลยที่ 4 ออกจากสารบบความชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2545 จำเลยที่ 4 ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยทนายความจำเลยที่ 4 ได้ลงลายมือชื่อไว้ใต้ข้อความซึ่งประทับด้วยตรายางในอุทธรณ์ว่า “ข้าพเจ้าจะมาฟังคำสั่งภายใน 7 วันนับแต่วันนี้ หากไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว” ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2545 โดยตามคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวกำหนดให้จำเลยที่ 4 นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ภายใน 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ ต่อมาวันที่ 14 มกราคม 2546 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลย 4 ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ครั้นวันที่ 31 มกราคม 2546 จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องอ้างว่าจำเลยที่ 4 มิได้จงใจที่จะไม่ปฏิบัติตามสั่งศาลชั้นต้นภายในเวลาที่กำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้อง ระหว่างไต่สวนโจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์ และต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 5 เห็นว่า ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 มีข้อความประทับด้วยตรายางของศาลชั้นต้นว่า “ข้าพเจ้าจะมารับฟังคำสั่งภายใน 7 วันนับแต่วันนี้ หากไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว” โดยมีทนายความจำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อไว้ใต้ข้อความดังกล่าว ดังนั้นแม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ในวันที่ 17 ธันวาคม 2545 ซึ่งเป็นวันหลังจากวันที่ 4 ยื่นอุทธรณ์แล้วก็ตาม แต่การที่ทนายจำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อรับทราบวันนัดให้มาฟังคำสั่งศาลชั้นต้นเป็นการแสดงเจตนายอมรับว่าจะมาฟังคำสั่งภายในวันดังกล่าว ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 4 ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นแล้วอย่างช้าวันที่ 20 ธันวาคม 2545 เมื่อจำเลยที่ 4 เพิกเฉยไม่จัดการนำส่งสำเนาอุทธรณ์ภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ จึงเป็นการทิ้งอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 ส่วนที่จำเลยที่ 4 อ้างในทำนองว่า สำนวนคดีนี้พลัดหลงในระหว่างการเคลื่อนย้ายอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนห้องเก็บสำนวนทำให้ไม่สามารถทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นได้นั้น เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ เพราะการวางเงินค่าธรรมเนียมในการส่งสำเนาอุทธรณ์อันถือเป็นการนำส่งตามคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้นจำเลยที่ 4 สามารถวางได้พร้อมกับการยื่นอุทธรณ์อยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามแม้จำเลยที่ 4 จะทิ้งฟ้องอุทธรณ์แล้ว ศาลก็มีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจว่าจะสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ สำหรับคดีนี้พฤติการณ์แห่งคดีปรากฏว่าเป็นกรณีที่จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้อุทธรณ์วางเงินค่าธรรมเนียมในการส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์ล่าช้าจนล่วงเลยเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่ก็ได้ดำเนินการส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์ให้โจทก์จนกระทั่งโจทก์ได้รับสำเนาอุทธรณ์และยื่นคำแก้อุทธรณ์แล้ว กรณียังไม่สมควรที่จะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 สั่งจำหน่ายคดีนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษายกคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 5 เพื่อพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป