คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3680/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองและเจ้าของรถยนต์ตู้คันที่จำเลยขับรถยนต์กระบะชนได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การและฟ้องแย้งยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองและเจ้าของรถยนต์ตู้ ศาลชั้นต้นได้ชี้สองสถานโดยมิได้กำหนดข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นประเด็นข้อพิพาท ข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองและเจ้าของรถยนต์ตู้หรือไม่เป็นอันยุติตามนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 183 การที่จำเลยยื่นคำร้องในเวลาต่อมาว่า เพิ่งทราบว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ตู้ จึงขอแก้ไขคำให้การใหม่ว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ แต่คำร้องก็มิได้ปฏิเสธในข้อที่ว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์ตู้ การขอแก้ไขคำให้การภายหลังวันชี้สองสถานในประเด็นที่จำเลยยอมรับและยุติไปแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 ศาลจึงไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การและไม่อนุญาตให้จำเลยยืนบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ครอบครองและเป็นเจ้าของรถยนต์ตู้นั่ง 4 ตอน หมายเลขทะเบียน 8 ย – 1678 กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2540 จำเลยขับรถยนต์กระบะส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน ม – 6897 พระนครศรีอยุธยา ด้วยความประมาท เฉี่ยวชนรถตู้ของโจทก์ที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับบาดเจ็บและรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ครอบครองและเป็นเจ้าของรถตู้ตามฟ้องจริง เหตุรถเฉี่ยวชนกันเกิดจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 และเป็นเหตุให้รถยนต์ของจำเลยได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง และบังคับให้โจทก์ที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหาย
ศาลชั้นต้นชี้สองสถานและสืบพยานโจทก์ไปแล้ว 3 ปาก
ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องว่า ทนายจำเลยตรวจพบว่าขณะเกิดเหตุและฟ้องคดีนี้รถยนต์คันดังกล่าวยังไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 ขอแก้ไขคำให้การว่า ในขณะเกิดเหตุและฟ้องคดีนี้โจทก์ที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8 ย – 1678 กรุงเทพมหานคร โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยผู้ทำให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์คันดังกล่าว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยจะแก้ไขคำให้การที่เสนอต่อศาลชั้นต้นแต่แรกภายหลังวันชี้สองสถานตามคำร้องของจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่า นอกจากคำให้การที่จำเลยเสนอต่อศาลชั้นต้นแต่แรกเป็นการยอมรับว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ครอบครองและเป็นเจ้าของรถยนต์ คันหมายเลขทะเบียน 8 ย – 1678 กรุงเทพมหานครแล้ว ฟ้องแย้งของจำเลยยังกล่าวอ้างว่า รถยนต์คันดังกล่าวเป็นของโจทก์ที่ 1 เพื่อให้โจทก์ที่ 1 ต้องรับผิดต่อจำเลย เพราะเหตุที่รถยนต์คันดังกล่าวเฉี่ยวชนกับรถยนต์ของจำเลยอีกด้วย อันเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงในประเด็นที่ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ครอบครองและเป็นเจ้าของรถยนต์คันดังกล่าวแล้ว และเมื่อศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถานโดยมิได้กำหนดข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นประเด็นข้อพิพาท ทนายจำเลยซึ่งไปศาลในวันชี้สองสถานก็มิได้โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงในประเด็นที่ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ครอบครองและเป็นเจ้าของรถยนต์คันดังกล่าวหรือไม่ เป็นอันยุติไปตามนั้น ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 แม้จำเลยไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนวันชี้สองสถานเพราะเพิ่งพบว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์คู่กรณี แต่คำร้องขอแก้ไขก็มิได้ปฏิเสธว่าฟ้องโจทก์ที่ว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์ตู้นั่ง 4 ตอน ดังนั้น การขอแก้ไขในประเด็นที่จำเลยยอมรับและยุติไปแล้วไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การหลังจากวันชี้สองสถานจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การและไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share