แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้สัญญาจ้างแรงงานจะกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ 1 ปี แต่ในข้อ 2 ของสัญญามีข้อความว่า นายจ้างจัดให้มีระยะเวลาทดลองงานเป็นระยะเวลา 4 เดือน นับแต่วันทำสัญญา หากนายจ้างเห็นว่าความรู้ความสามารถ ฝีมือหรือความเอาใจใส่ของลูกจ้างไม่เป็นที่น่าพอใจ นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาฉบับนี้ในเวลาใด ๆ ในระหว่างอายุสัญญาทดลองงานก็ได้ เช่นนี้ ย่อมหมายถึงโจทก์ตกลงจ้างให้จำเลยทำงานโดยมีเวลาทดลองงาน 4 เดือน หากจำเลยผ่านการทดลองงานโจทก์จะจ้างต่อไป ถ้าหากไม่ผ่านการทดลองงานโจทก์มีสิทธิเลิกจ้างได้ ซึ่งไม่แน่นอนว่าสัญญาจ้างจะสิ้นสุดลงเมื่อใด จึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จ้างจำเลยเข้าทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่แนะนำหลักสูตรมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี จำเลยละทิ้งหน้าที่โดยไม่มาทำงาน และไม่ได้ลาออกให้ถูกต้อง การกระทำของจำเลยเป็นการทำงานไม่ครบระยะเวลาตามที่ตกลงกันไว้เป็นการผิดสัญญา ทำให้โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายฝึกอบรมพนักงานคนใหม่แทนจำเลยและเสียเวลาในการดำเนินธุรกิจ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงิน 83,114.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยขาดนัด
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 16,198.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…แม้ในสัญญาจ้างแรงงานจะกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2546 สิ้นสุดวันที่ 9 มิถุนายน 2547 ก็ตาม แต่ในข้อ 2 ของสัญญาจ้างฉบับดังกล่าวก็มีข้อความว่า นายจ้างจัดให้มีระยะเวลาทดลองงานเป็นระยะเวลา 4 เดือน นับแต่วันทำสัญญา ข้อ 2.1 หากนายจ้างเห็นว่าความรู้ความสามารถ ฝีมือหรือความเอาใจใส่ของลูกจ้างไม่เป็นที่น่าพอใจ นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาฉบับนี้ในเวลาใด ๆ ในระหว่างอายุสัญญาทดลองงานก็ได้ ข้อ 2.2 เมื่อกำหนดเวลาตามข้อ 2 สิ้นสุดลง นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบในทันทีว่าจะจ้างลูกจ้างต่อไปหรือไม่ ถ้าหากนายจ้างไม่แจ้งความดังกล่าวให้ลูกจ้างทราบ ให้ถือว่านายจ้างจ้างลูกจ้างทำงานในตำแหน่งนั้นต่อไปตามกำหนดระยะเวลาในข้อ 1 ดังนั้น การที่โจทก์จ้างจำเลยโดยมีกำหนดเวลาทดลองงาน 4 เดือน และกำหนดไว้ในสัญญาด้วยว่าโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาฉบับนี้ในเวลาใด ๆ ในระหว่างอายุสัญญาทดลองงานได้ย่อมหมายถึงโจทก์ตกลงจ้างให้จำเลยทำงานโดยมีเวลาทดลองงาน 4 เดือน หากจำเลยผ่านการทดลองงานโจทก์จะจ้างต่อไป ถ้าหากไม่ผ่านการทดลองงานโจทก์มีสิทธิเลิกจ้างได้ ซึ่งไม่แน่นอนว่าสัญญาจ้างจะสิ้นสุดลงเมื่อใด สัญญาจ้างแรงงานตามเอกสารหมาย จ. 4 จึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่จำเลยได้ออกจากงานเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2546 ซึ่งอยู่ในระหว่างระยะเวลาทดลองงาน ก็ไม่ทำให้จำเลยตกเป็นผู้ผิดสัญญาจ้างเพราะเหตุออกจากงานก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาเบี้ยปรับจากจำเลยได้นั้น ชอบแล้ว”
พิพากษายืน