คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2345/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐฟ้องบังคับจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานกระทำละเมิด โดยโจทก์บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ อ้างว่าจำเลยมีหน้าที่จัดเตรียมเอกสารหลักฐานต่างๆ ในการดำเนินคดี รวบรวมพยานหลักฐานเร่งรัด ติดตามเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารหลักฐานต่างๆ และมีหน้าที่ประสานกับพนักงานอัยการในการส่งเอกสารเพิ่มเติมแล้วนำพยานที่เกี่ยวข้องไปสอบข้อเท็จจริงและรับรองเอกสาร จำเลยกลับปล่อยปละละเลยโดยไม่รับดำเนินการจัดหา เร่งรัดและติดตามเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารหลักฐานต่างๆ ส่งไปให้พนักงานอัยการดำเนินคดีแก่ผู้ประเมิน จนเป็นเหตุให้คดีขาดอายุความทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนี้ ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวพอแปลได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแล้ว
พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ มาตรา 8 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติให้สิทธิหน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่หน่วยงานของรัฐได้ จึงมิใช่บทบังคับโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้องออกคำสั่งทางปกครองให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนเสียก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้อง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินภายในเขตเทศบาลตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ มีหน้าที่รับผิดชอบในการรวบรวมเอกสารหลักฐานต่างๆ ส่งให้พนักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลกดำเนินคดีแก่ผู้รับประเมินซึ่งเป็นเจ้าของตึกแถวจำนวน 10 คูหา และค้างชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2527 ถึง 2529 รวมค่าภาษีและเงินเพิ่มเป็นเงิน 429,000 บาท แต่จำเลยปล่อยปละละเลยและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ โดยไม่รีบดำเนินการจัดหา เร่งรัด ติดตามเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารหลักฐานต่างๆ ส่งไปให้พนักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลกดำเนินคดีแก่ผู้รับประเมินเจ้าของตึกแถวดังกล่าว จนเป็นเหตุให้คดีขาดอายุความทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวน 429,000 บาท โจทก์ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวได้รายงานผลการสอบสวนเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2542 โดยเห็นว่าจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 429,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่มีหน้าที่และไม่เคยได้รับแต่งตั้งให้จัดเตรียมเอกสารหลักฐานต่างๆ ในการดำเนินคดี รวบรวมพยานหลักฐาน เร่งรัด ติดตามเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารหลักฐานต่างๆ และเป็นผู้ประสานงานกับพนักงานอัยการในการส่งเอกสารเพิ่มเติมและนำพยานที่เกี่ยวข้องไปสอบข้อเท็จจริง และรับรองเอกสารตามฟ้องผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลจัดเก็บภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 คือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้มีหน้าที่รับแบบแสดงรายการทรัพย์สินประเมินภาษีและพนักงานเก็บภาษีซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้มีหน้าที่จัดเก็บรับชำระ รวมทั้งเร่งรัดให้ชำระภาษีตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดหากจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ก็รับผิดเพียง 1,000 บาท การที่โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยเพียงคนเดียวเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายเคลือบคลุมและคดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 มีนาคม 2543) จนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่าอุทธรณ์ของจำเลยมีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า (ที่ถูกพิพากษากลับ) ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 บัญญัติไว้ในมาตรา 8 วรรคหนึ่งว่า “ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่ายงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ผู้นั้นอยู่ในสังกัดหรือไม่ ถ้าเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ให้นำบทบัญญัติมาตรา 8 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้ามิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” และมาตรา 12 บัญญัติว่า “ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่หน่วยงานของรัฐได้ใช้ให้แก่ผู้เสียหายตามมาตรา 8 หรือในกรณีที่เจ้าหน้าที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้นั้นได้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐตาม มาตรา 10 ประกอบกับมาตรา 8 ให้หน่วยงานของรัฐที่เสียหายมีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นชำระเงินดังกล่าวภายในเวลาที่กำหนด” คดีนี้โจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐฟ้องบังคับจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดให้ชดให้ค่าสินไหมทดแทนฐานกระทำละเมิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยโจทก์บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ อ้างว่าจำเลยเป็นนิติกร 4 เป็นผู้มีความรู้ทางกฎหมาย ย่อมรู้ดีว่าถ้ามิได้ใช้บังคับสิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ เมื่อจำเลยมีหน้าที่จัดเตรียมเอกสารหลักฐานต่างๆ และมีหน้าที่ประสานกับพนักงานอัยการในการส่งเอกสารเพิ่มเติมแล้วนำพยานที่เกี่ยวข้องไปสอบข้อเท็จจริงและรับรองเอกสาร จำเลยกลับปล่อยปละละเลยโดยไม่รีบดำเนินการจัดหา เร่งรัด และติดตามเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารหลักฐานต่างๆ ไปส่งให้พนักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลกดำเนินคดีแก่ผู้รับประเมินที่เป็นเจ้าของตึกแถวจำนวน 10 คูหา ตั้งอยู่ที่อาคารเลขที่ 209/47-56 ถนนบรมไตรโลกนารถ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งค้างชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2527 ถึง 2529 รวมค่าภาษีและเงินเพิ่มเป็นเงิน 429,000 บาท จนเป็นเหตุให้คดีขาดอายุความ ตามพฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวพอแปลความได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องถึงว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่ไปด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแล้ว ทั้งตามมาตรา 8 วรรคหนึ่งดังกล่าวข้างต้นก็เป็นเพียงบทบัญญัติให้สิทธิหน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่หน่วยงานของรัฐได้ จึงมิใช่บทบังคับโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้องออกคำสั่งทางปกครองให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนเสียก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องจำเลยแต่อย่างใด ดังนี้ โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ส่วนปัญหาข้อสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์จำนวน 429,000 บาท หรือไม่ นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 บัญญัติไว้ในมาตรา 8 วรรคสี่ว่า “ในกรณีที่การละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่หลายคน มิให้นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับและเจ้าหน้าที่แต่ละคนต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น” คดีนี้โจทก์ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและหาตัวผู้รับผิดทางแพ่ง ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวรายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่และสอบวินัย โดยมีรายละเอียดให้ผู้ที่ต้องชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์รวมทั้งสิ้น 26 คน เพราะการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่หลายคนและหลายฝ่ายเฉพาะส่วนของจำเลย คณะกรรมการสอบสวนกำหนดให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์จำนวน 25,000 บาท โดยโจทก์มิได้โต้แย้งหรือคัดค้าน ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์จำนวน 25,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share