คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2132/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

บทบัญญัติตามมาตรา 134 ตรี ประกอบมาตรา 133 ทวิ วรรคห้า แห่ง ป.วิ.อ. ใช้บังคับสำหรับกรณีผู้ต้องหาอายุไม่เกินสิบแปดปีในขณะที่จะมีการสอบปากคำ เมื่อปรากฏว่าขณะที่พนักงานสอบสวนถามปากคำของจำเลยในฐานะผู้ต้องหา จำเลยมีอายุเกินสิปแปดปีแล้ว การสอบปากคำจำเลยของพนักงานสอบสวนจึงไม่จำเป็นต้องมีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่จำเลยในฐานะผู้ต้องหาร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำจำเลยแต่อย่างใด แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยจะมีอายุไม่เกินสิบแปดปี
พนักงานสอบสวนไม่จำต้องสอบถามเรื่องทนายความตามมาตรา 134 ทวิ (ปัจจุบันมาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง) ก่อนเริ่มถามคำให้การผู้ต้องหา ถ้าขณะเริ่มถามคำให้การผู้ต้องหา ผู้ต้องหามีอายุเกินสิบแปดปีแล้ว แม้ขณะกระทำความผิดผู้ต้องหาจะมีอายุไม่เกินสิบแปดปี
การนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบการดำเนินคดีนี้ เป็นการดำเนินการก่อนการสอบสวนผู้ต้องหา ไม่ใช่การสอบถามปากคำและมิใช่การชี้ตัวผู้ต้องหาซึ่งมีบทบัญญัติของกฎหมายโดยเฉพาะ จึงไม่จำเป็นต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยการสอบสวนผู้ต้องหาอายุไม่เกินสิบแปดปีตามมาตรา 134 ตรี ประกอบมาตรา 133 ทวิ มาใช้บังคับ
ความผิดฐานลักทรัพย์ ผู้ครอบครองทรัพย์ที่ถูกคนร้ายลักทรัพย์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 336 ทวิ, 357, 83, 33 ริบที่หมุนถอดยางอะไหล่กับคีมตัดเหล็กของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง, 336 ทวิ ประกอบมาตรา 83 ขณะกระทำผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ให้จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี แต่เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดเพราะความเยาว์วัย หากได้รับการอบรมขัดเกลานิสัยความประพฤติน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยยิ่งกว่าจะให้รับโทษจำคุก อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลางมีกำหนด 1 ปี นับแต่วันพิพากษา ริบที่หมุนถอดยางอะไหล่ คีมตัดเหล็กของกลาง ส่วนข้อหารับของโจรให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สามปีขึ้นไป หรือในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่ถึงสามปีและผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กร้องขอ หรือในคดีทำร้ายร่างกายเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี การถามปากคำเด็กไว้ในฐานะเป็นผู้เสียหายหรือพยานให้แยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็กและให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมให้การถามปากคำนั้นด้วย” มาตรา 134 ตรี บัญญัติว่า “ให้นำบทบัญญัติในมาตรา 133 ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การสอบสวนผู้ต้องหาอายุไม่เกินสิบแปดปี” บทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวหมายความว่า สำหรับการสอบสวนผู้ต้องหาอายุไม่เกินสิบแปดปี พนักงานสอบสวนจะต้องแยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสม และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่ผู้ต้องหาร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวนผู้ต้องหาที่มีอายุไม่เกินสิบแปดปี เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งซึ่งมีเหตุอันควรไม่อาจรอบุคคลทั้งหมดดังกล่าวพร้อมกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ตรี (ปัจจุบันมาตรา 134/2) ประกอบด้วยมาตรา 133 ทวิ วรรคห้า บทบัญญัติดังกล่าวมุ่งคุ้มครองผู้ต้องหาที่มีอายุไม่เกินสิบแปดปีขณะถูกสอบสวนเพราะผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี สภาพร่างกายและจิตใจของเด็กยังอ่อนแอ การถามปากคำส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กและส่งผลให้การสอบสวนคลาดเคลื่อน แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าขณะที่พนักงานสอบสวนถามปากคำของจำเลยในฐานะผู้ต้องหา จำเลยมีอายุเกินสิบแปดปีแล้วแม้ขณะเกิดเหตุจะอายุไม่เกินสิบแปดปีก็ตาม การถามปากคำจำเลยของพนักงานสอบสวนจึงไม่เป็นต้องมีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำจำเลย ส่วนการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบการดำเนินคดีนี้เป็นการดำเนินการก่อนการสอบสวนผู้ต้องหาไม่ใช่การถามปากคำผู้ต้องหาและมิใช่การชี้ตัวผู้ต้องหา ซึ่งมีบทบัญญัติของกฎหมายโดยเฉพาะ ดังนั้น แม้จะกระทำขณะที่จำเลยอายุไม่เกินสิบแปดปีจึงไม่จำเป็นต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยการสอบสวนผู้ต้องหาอายุไม่เกินสิบแปดปีตามมาตรา 134 ตรี ประกอบมาตรา 133 ทวิ มาใช้บังคับ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าในการถามคำให้การพนักงานสอบสวนมิได้ถามจำเลยว่ามีทนายหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ทวิ วรรคหนึ่ง (ปัจจุบันมาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง) บัญญัติว่า “ในคดีที่ผู้ต้องหาอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคำให้การ ให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้” บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายว่า ก่อนเริ่มการสอบสวน หากผู้ต้องหามีอายุไม่เกินสิบแปดปี พนักงานสอบสวนต้องถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มี พนักงานสอบสวนต้องจัดหาทนายความให้แต่ในคดีนี้ในวันที่พนักงานสอบสวนเริ่มถามคำให้การจำเลย ขณะเมื่อจำเลยมีอายุเกินสิบแปดปีแล้ว พนักงานสอบสวนจึงไม่จำต้องปฏิบัติตามมาตรา 134 ทวิ แต่ประการใด
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า การสอบสวนคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยฎีกาขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 นำรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ไปใช้เป็นการส่วนตัว ผู้เสียหายที่ 2 จึงมิใช่ผู้ครอบครองรถยนต์โดยชอบ เมื่อมีคนร้ายลักเอาฝาครอบล้อรถยนต์ไป ผู้เสียหายที่ 2 จึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์ เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความยืนยันว่าผู้เสียหายที่ 1 มอบรถยนต์ให้ผู้เสียหายที่ 2 ไว้ใช้เพื่อไปทำงานซึ่งผู้เสียหายที่ 2 ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าวตลอด เมื่อมีคนร้ายลักเอาฝาครอบล้อรถยนต์ที่ผู้เสียหายที่ 2 ครอบครองอยู่ อันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีได้ การสอบสวนคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share