แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 9 สิงหาคม 2545 ขอขยายระยะเวลาที่ศาลแรงงานกลางสั่งให้จำเลยวางเงินตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 58 ออกไป 30 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนด ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งคำร้องดังกล่าววันที่ 13 สิงหาคม 2545 อนุญาตให้จำเลยวางเงินภายในวันที่ 20 สิงหาคม 2545 เนื่องจากศาลแรงงานกลางมิได้มีคำสั่งในวันที่ 9 สิงหาคม 2545 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยยื่นคำร้องแต่ได้มีคำสั่งภายหลังต่อมาอีก 4 วัน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทราบคำสั่งแล้ว ดังนั้นการที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งในวันที่ 10 กันยายน 2545 ว่าจำเลยมิได้นำเงินมาวางศาลภายในวันที่ศาลแรงงานกลางอนุญาตจึงไม่ชอบ
โจทก์เท่านั้นที่จะเป็นผู้มีสิทธิขอคุ้มครองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (3) ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินของจำเลยที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาด
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสาม จำเลยไม่ชำระ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงยึดทรัพย์จำเลยขายทอดตลาด
จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 5 สิงหาคม 2545 จำนวนสองฉบับ โดยฉบับแรกอ้างว่าราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยต่ำเกินสมควรเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้เกี่ยวข้องในการเข้าสู้ราคาและเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดี ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง (เดิม) ส่วนคำร้องฉบับที่สอง ขอให้ระงับการบังคับคดีไว้ก่อน
ศาลแรงงานกลางสั่งคำร้องฉบับแรกว่า ให้ผู้ร้องวางเงินให้พอต่อการชำระหนี้ของโจทก์ในคดีนี้ภายใน 7 วัน แล้วจึงจะพิจารณาสั่งคำร้องนี้ และสั่งคำร้องฉบับที่สองว่ารอไว้สั่งพร้อมกับคำร้อง (ฉบับแรก) ที่ขอเพิกถอนการขาย
จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินออกไปอีก 30 วัน นับจากวันที่ครบกำหนด (12 สิงหาคม 2545) กับขอให้แจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีรอการโอนกรรมสิทธิ์ไว้ชั่วคราว และขอให้นัดพร้อมเพื่อเจรจากับฝ่ายโจทก์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2545 อนุญาตให้จำเลยวางเงินภายในวันที่ 20 สิงหาคม 2545 เป็นครั้งสุดท้าย และแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรอการโอนกรรมสิทธิ์ไว้ชั่วคราวก่อน กับให้นัดพร้อมเพื่อเจรจาตามขอ
ต่อมาในวันที่ 10 กันยายน 2545 ซึ่งเป็นวันนัดพร้อม ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า จำเลยไม่วางเงินภายในเวลาที่ศาลอนุญาตตามคำร้องฉบับลงวันที่ 5 และวันที่ 9 สิงหาคม 2545 จึงถือว่าจำเลยไม่ติดใจ มีคำสั่งยกคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด และให้ยกคำร้องขอให้ระงับการบังคับคดีด้วย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 9 สิงหาคม 2545 ขอขยายระยะเวลาวางเงินออกไป 30 วันนับแต่วันที่ครบกำหนด ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งคำร้องดังกล่าววันที่ 13 สิงหาคม 2545 อนุญาตให้จำเลยวางเงินภายในวันที่ 20 สิงหาคม 2545 เนื่องจากศาลแรงงานกลางมิได้มีคำสั่งในวันที่ 9 สิงหาคม 2545 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยยื่นคำร้อง แต่ได้มีคำสั่งภายหลังต่อมาอีก 4 วัน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ทราบคำสั่งแล้ว และศาลแรงงานกลางยังมิได้แจ้งคำสั่งนี้ให้จำเลยทราบเพียงแต่แจ้งคำสั่งนัดพร้อมเพื่อเจรจาตามขอ โดยปรากฏว่ามีการส่งหมายนัดให้ทนายจำเลยเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2545 ซึ่งก็เลยระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยวางเงินแล้ว ทั้งในหมายนัดดังกล่าวก็มิได้แจ้งคำสั่งให้จำเลยวางเงินภายในระยะเวลาดังกล่าว ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งในวันที่ 10 กันยายน 2545 ว่าจำเลยมิได้นำเงินมาวางศาลภายในวันที่ศาลแรงงานกลางอนุญาตจึงไม่ชอบ และเนื่องจากระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยนำเงินมาวางนั้นล่วงเลยไปแล้วจึงสมควรกำหนดให้ใหม่ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
อนึ่ง ที่จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 21 ตุลาคม 2545 ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินของจำเลยที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (3) นั้น เห็นว่า ผู้ที่จะมีสิทธิขอคุ้มครองตามบทบัญญัติดังกล่าวต้องเป็นโจทก์ จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องดังกล่าว”
พิพากษายกคำสั่งในวันที่ 10 กันยายน 2545 ของศาลแรงงานกลาง และให้จำเลยนำเงินตามคำสั่งศาลแรงงานกลางมาวางภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันฟังคำสั่งนี้ แล้วให้ศาลแรงงานกลางดำเนินการต่อไป และให้ยกคำร้องของจำเลยฉบับลงวันที่ 21 ตุลาคม 2545 เสีย