คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 776/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 369 บัญญัติว่า ในสัญญาต่างตอบแทนนั้น คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้…ฯลฯ… หมายความว่า การชำระหนี้ในสัญญาต่างตอบแทน คู่สัญญาจะต้องมีความพร้อมในการชำระหนี้ทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พร้อมที่จะชำระหนี้ตอบแทนอีกฝ่ายจะไม่ยอมชำระหนี้ก็ได้ ที่ดินพิพาทถูกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดเพื่อบังคับคดีชำระหนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2541 และเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2541 แจ้งให้โจทก์ไปรับโฉนดที่ดินพิพาทคืนเนื่องจากมีการถอนการยึด แสดงว่าในวันที่ 10 เมษายน 2541 ที่โจทก์จำเลยนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์นั้น ที่ดินพิพาทยังถูกยึดโดยเจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะโอนให้โจทก์ เพราะการโอนทรัพย์ที่ถูกยึดภายหลังที่ได้ทำการยึดไว้แล้วไม่อาจใช้ยันแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 305 (1) เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องทำให้ที่ดินพิพาทพ้นสภาพจากการถูกยึดก่อนนำมาโอนและรับชำระราคาจากโจทก์ หากที่ดินพิพาทยังไม่พ้นจากสภาพดังกล่าว จำเลยก็มิอาจเรียกร้องให้โจทก์ชำระราคาได้ เพราะจำเลยไม่อยู่ในสภาพจะชำระหนี้ตอบแทนได้ทันที จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ชำระราคาที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินที่โจทก์ชำระไปชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และถอนการยึดที่ดินพิพาทแล้วนำมาโอนให้โจทก์ได้
จำเลยไม่พร้อมที่จะโอนที่ดินพิพาทเพราะที่ดินถูกยึด โจทก์ย่อมมีสิทธิไม่ยอมชำระราคาดังกล่าว และถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะที่ดินพิพาทถูกยึดไม่พร้อมจะโอนให้โจทก์อันเป็นเหตุที่เกิดจากฝ่ายจำเลย จำลยจึงไม่มีสิทธิริบเงินมัดจำที่โจทก์วางไว้ และเมื่อโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้วคู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์
โจทก์จำเลยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทในวันที่ 10 เมษายน 2541 เมื่อจำเลยไม่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามกำหนด ถือว่าจำเลยผิดนัดและต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2541 เป็นต้นไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยรับผิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2541 จึงยังไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 184,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 160,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้กับโจทก์ยึดถือโฉนดเลขที่ 4602 ตำบลขามป้อม อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น เป็นประกันไว้จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยคืนจนครบถ้วน
จำเลยให้การว่าจำเลยได้รับเงินมัดจำจากโจทก์เพียง 110,000 บาท โจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือภายในกำหนด จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินมัดจำคืนขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์จำนวน 160,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2541 จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 4602 ตำบลขามป้อม อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น แก่โจทก์เป็นเงิน 330,000 บาท โดยในวันทำสัญญาโจทก์วางเงินมัดจำ จำนวน 110,000 บาท ส่วนที่เหลือตกลงชำระในวันที่ 31 มีนาคม 2541 โดยกำหนดนัดโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 10 เมษายน 2541 ต่อมาวันที่ 17 มีนาคม 2541 เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2083/2540 ของศาลชั้นต้น และโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยตามเอกสารหมาย จ.7 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369 บัญญัติว่าในสัญญาต่างตอบแทนนั้น คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้…ฯลฯ… หมายความว่า การชำระหนี้ในสัญญาต่างตอบแทน คู่สัญญาจะต้องมีความพร้อมในการชำระหนี้ทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พร้อมที่จะชำระหนี้ตอบแทนอีกฝ่ายจะไม่ยอมชำระหนี้ก็ได้ คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า ที่ดินพิพาทถูกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดเพื่อบังคับชำระหนี้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2083/2540 ของศาลชั้นต้น ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2541 และเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2541 แจ้งให้โจทก์ไปรับโฉนดที่ดินพิพาทคืน เนื่องจากมีการถอนการยึด แสดงว่าในวันที่ 10 เมษายน 2541 ที่โจทก์จำเลยนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์นั้น ที่ดินพิพาทยังถูกยึดโดยเจ้าหน้าที่บังคับคดี มิได้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะโอนให้โจทก์ เพราะการโอนทรัพย์ที่ถูกยึดภายหลังที่ทำการยึดไว้แล้วไม่อาจใช้ยันแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 305 (1) เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องทำให้ที่ดินพิพาทพ้นสภาพจากการถูกยึดก่อนนำมาโอนและรับชำระราคาจากโจทก์ หากที่ดินพิพาทยังไม่พ้นสภาพดังกล่าว จำเลยก็มิอาจเรียกร้องให้โจทก์ชำระราคาได้ เพราะจำเลยไม่อยู่ในสภาพที่จะชำระหนี้ตอบแทนได้ทันที ดังนั้นจำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ชำระราคาที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินที่โจทก์ชำระไปชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและถอนการยึดที่ดินพิพาทแล้วนำมาโอนให้โจทก์ได้ในส่วนของโจทก์นั้นโจทก์เบิกความยืนยันว่า ขณะนั้นมีมีเงินเตรียมพร้อมแล้ว ข้อนี้จำเลยเบิกความว่า เมื่อวันที่ 28 นีนาคม 2541 โจทก์ไปหาจำเลยบอกว่าที่ดินพิพาทถูกยึด ไม่เป็นมงคลไม่ซื้อแล้ว แสดงว่าจำเลยไม่โต้เถียงในข้อที่ว่า โจทก์ไม่มีเงินชำระราคาที่ดินพิพาทแต่อย่างใด น่าเชื่อว่าโจทก์อยู่ในฐานะที่จะชำระราคาที่ดินพิพาทได้ ทั้งจากพยานโจทก์จำเลยบ่งชี้ว่า ภายหลังจากจำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทแล้วที่ดินพิพาทจึงถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึด มิใช่โจทก์ไม่มีเงินชำระราคา เมื่อจำเลยไม่พร้อมที่จะโอนที่ดินพิพาทเพราะที่ดินถูกยึด โจทก์ย่อมมีสิทธิไม่ยอมชำระราคาดังกล่าว และกรณีนี้ถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะที่ดินพิพาทถูกยึดไม่พร้อมจะโอนให้โจทก์อันเป็นเหตุที่เกิดจากฝ่ายจำเลย จำเลยจึงไม่มีสิทธิริบเงินมัดจำที่โจทก์วางไว้ และเมื่อโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้วคู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่าโจทก์วางเงินมัดจำแก่จำเลยจำนวนเท่าใด จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้รับเงินมัดจำไว้ในวันทำสัญญาจำนวน 110,000 บาทเท่านั้น มิได้รับเงินมัดจำเพิ่มอีก 50,000 บาท ในข้อนี้โจทก์เบิกความว่า เมื่อโจทก์ทราบว่าที่ดินพิพาทถูกยึดก็ได้ไปติดต่อจำเลยแจ้งว่าโจทก์ยังประสงค์รับโอนที่ดินพิพาท แต่จำเลยให้โจทก์ชำระมัดจำเพิ่มอีก 50,000 บาท เพื่อจำเลยจะนำเงินไปถอนการบังคับคดี และสามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ทันกำหนดโจทก์จึงชำระเงินให้แก่จำเลยอีก 50,000 บาท และได้มีการแก้ไขสัญญา ส่วนราคาที่ดินพิพาทที่เหลือใช้ชำระในวันที่ 10 เมษายน 2541 แต่ถึงกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์จำเลยไม่ไปถอนการบังคับคดี และโจทก์มีนายพรหมมา เป็นพยานเบิกความว่า เป็นผู้เขียนสัญญาและแก้ไขสัญญาและลงชื่อกำกับการแก้ไข กับยืนยันว่าโจทก์จ่ายเงินมัดจำเพิ่มให้จำเลย เห็นว่า จำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า จำเลยเคยมอบให้นายพรหมมาไปติดต่อกับโจทก์ให้โจทก์นำเงินค่าที่ดินพิพาทที่เหลือมาชำระโดยให้นายพรหมมามีอำนาจต่อรองกับโจทก์ ดังนี้แสดงว่านายพรหมมาเป็นบุคคลที่ทั้งโจทก์จำเลยให้การยอมรับ และเป็นคนกลางไม่มีประโยชน์ได้เสียกับฝ่ายใดทั้งได้รู้เห็นเรื่องนี้มาตั้งแต่แรกโดยเป็นผู้เขียนสัญญาจะขายที่ดินให้โจทก์จำเลยคำเบิกความของนายพรหมมาจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ นายพรหมมาเบิกความสอดคล้องกับโจทก์ว่า โจทก์ได้ชำระเงินมัดจำเพิ่มให้จำเลย และพยานเป็นผู้แก้ไขสัญญาและลงชื่อกำกับการแก้ไข แม้จำเลยจะมิได้ลงชื่อกำกับการแก้ไข แต่นายพรหมมาก็เบิกความว่าจำเลยยินยอมด้วย ซึ่งก็มีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าจำเลยยินยอมและไม่ปฏิเสธเพราะเป็นเรื่องที่โจทก์จะช่วยเหลือให้จำเลยมีเงินไปชำระหนี้เพื่อถอนการบังคับคดีและนำที่ดินพิพาทมาโอนให้โจทก์ตามสัญญา พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักกว่าพยานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ได้จ่ายเงินมัดจำเพิ่มให้จำเลยอีก 50,000 บาท รวมเป็นเงินที่จ่ายให้จำเลยทั้งสิ้น 160,000 บาท เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงต้องคืนเงินจำนวนนี้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในส่วนนี้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยรับผิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2541 นั้น ได้ความว่า โจทก์จำเลยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทในวันที่ 10 เมษายน 2541 เมื่อจำเลยไม่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์ตามกำหนด ถือว่าจำเลยผิดนัดและต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2541 เป็นต้นไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยรับผิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2541 จึงยังไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 160,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share