คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7855/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ฎีกาจำเลยกล่าวถึงข้อเท็จจริงมีใจความว่า ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ ซึ่งแม้ความผิดฐานดังกล่าวจะยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงแต่เนื่องจากโจทก์จำเลยนำสืบมีสาระตรงกันข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้เสียหายรู้จักกับจำเลยจากการแนะนำของนางสาว ศ. ซึ่งเป็นเพื่อนของผู้เสียหาย เพราะจำเลยต้องการร่วมประเวณีกับผู้เสียหาย และในวันเกิดเหตุผู้เสียหายกับนางสาว ศ. พากันไปบ้านจำเลย โดยผู้เสียหายทราบแต่แรกแล้วว่าการไปบ้านจำเลยเพราะจำเลยประสงค์จะขอร่วมประเวณี เมื่อมีโอกาสอยู่ด้วยกันสองคนขณะนางสาว ศ. ขับรถจักรยานยนต์ออกจากบ้านจำเลยไป จำเลยบอกให้ผู้เสียหายถอดเสื้อผ้าผู้เสียหายก็ถอดเอง หลังจากร่วมประเวณีแล้วผู้เสียหายก็ยอมรับเงินจากจำเลยโดยไม่ได้แสดงอาการปฏิเสธ และเมื่อนางสาว ศ. กลับมารับผู้เสียหาย จำเลยก็ไม่ได้ขัดขวาง กอปรกับขณะเกิดเหตุผู้เสียหายอายุ 14 ปี มีการศึกษาถึงระดับมัธยมและไม่ถึงกับไร้เดียงสา เพราะผู้เสียหายได้ยอมรับในการเบิกความตอบคำถามค้านว่า ผู้เสียหายเคยร่วมประเวณีกับชายอื่นมาก่อน แสดงว่าขณะผู้เสียหายอยู่ที่บ้านจำเลย ผู้เสียหายมีความอิสระในการเคลื่อนไหวไม่ได้อยู่ในความควบคุมของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการตัดอำนาจการปกครองของบิดามารดาผู้เสียหาย จึงไม่มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ ดังนั้น ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานพรากผู้เยาว์ได้แม้ว่าความผิดฐานนี้จะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 317
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก, 317 วรรคสาม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน จำคุก 6 ปี ฐานพรากเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี โดยปราศจากเหตุอันสมควรไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 11 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นความผิดสองกระทง คือ ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี เป็นกระทงหนึ่ง และฐานพรากผู้เยาว์เป็นอีกกระทงหนึ่ง จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ลงโทษจำเลยทั้งสองกระทง กระทงแรกจำคุก 6 ปี และกระทงหลังจำคุก 5 ปี จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาเฉพาะความผิดกระทงแรก ส่วนกระทงหลังมีคำสั่งไม่รับฎีกาโดยอ้างเหตุผลว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ความผิดฐานพรากผู้เยาว์จึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า สมควรลงโทษจำเลยสถานเบาในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยยอมรับมาในฎีกาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานกระทำชำเราและได้รู้สำนึกในความผิดดังกล่าวแล้ว แต่ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก บัญญัติเป็นความผิดไม่ว่าผู้เสียหายจะยินยอมหรือไม่ โดยมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 20 ปี และยังคงวางโทษปรับไว้อีกสถานหนึ่ง แสดงว่ากฎหมายมุ่งประสงค์จะคุ้มครองเด็กหญิงที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี การกำหนดโทษจึงต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ตามบทบัญญัติกฎหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 45 ปี ส่วนผู้เสียหายมีอายุเพียง 14 ปี เป็นการกระทำความผิดต่อเด็กหญิงซึ่งมีอายุแตกต่างกับจำเลยมากกว่า 30 ปี พฤติการณ์ในการกระทำความผิดนับว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ที่ศาลล่างทั้งสองวางโทษจำคุก 6 ปี ในความผิดฐานนี้ นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะลงโทษจำเลยเบากว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนด
อนึ่ง ฎีกาจำเลยกล่าวถึงข้อเท็จจริงมีใจความว่า ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ ซึ่งแม้ความผิดฐานดังกล่าวจะยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่เนื่องจากโจทก์จำเลยนำสืบมีสาระตรงกันข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้เสียหายรู้จักกับจำเลยจากการแนะนำของนางสาว ศ. ซึ่งเป็นเพื่อนของผู้เสียหาย เพราะจำเลยต้องการร่วมประเวณีกับผู้เสียหาย และในวันเกิดเหตุผู้เสียหายกับนางสาว ศ. พากันไปบ้านจำเลยโดยผู้เสียหายทราบแต่แรกแล้วว่าการไปบ้านจำเลยเพราะจำเลยประสงค์จะขอร่วมประเวณี เมื่อมีโอกาสอยู่ด้วยกันสองคนขณะนางสาว ศ. ขับรถจักรยานยนต์ออกจากบ้านจำเลยไป จำเลยบอกให้ผู้เสียหายถอดเสื้อผ้า ผู้เสียหายก็ถอดเอง หลังจากร่วมประเวณีแล้วผู้เสียหายก็ยอมรับเงินจากจำเลยโดยไม่ได้แสดงอาการปฏิเสธ และเมื่อนางสาว ศ. กลับมารับผู้เสียหาย จำเลยก็ไม่ได้ขัดขวาง กอปรกับขณะเกิดเหตุผู้เสียหายอายุ 14 ปี มีการศึกษาถึงระดับมัธยม และไม่ถึงกับไร้เดียงสา เพราะผู้เสียหายได้ยอมรับในการเบิกความตอบคำถามค้านว่า ผู้เสียหายเคยร่วมประเวณีกับชายอื่นมาก่อนแสดงว่าขณะผู้เสียหายอยู่ที่บ้านจำเลย ผู้เสียหายมีความอิสระในการเคลื่อนไหวไม่ได้อยู่ในความควบคุมของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการตัดอำนาจการปกครองของบิดามารดาผู้เสียหาย จึงไม่มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ ดังนั้น ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานพรากผู้เยาว์ได้แม้ว่าความผิดฐานนี้จะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยในความผิดฐานพรากผู้เยาว์ด้วยนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดฐานพรากผู้เยาว์ นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share