คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6934/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าคำว่า SOSO ของจำเลยที่ 3 กับเครื่องหมายการค้าคำว่า SOLO ของโจทก์ ใช้อักษรโรมันตัวเดียวกัน จำนวนตัวอักษรและลำดับการวางอักษรเหมือนกันทุกประการ มีความแตกต่างกันเพียงเฉพาะอักษรตัว S กับ L เท่านั้น แต่มีเสียงเรียกขานที่คล้ายกัน โอกาสที่จะมีการออกเสียงเรียกขานไม่ชัดและมีการฟังเสียงเรียกขานเข้าใจคลาดเคลื่อนย่อมเป็นไปได้ เมื่อพิจารณาประกอบกับเหตุผลที่ว่าวัตถุประสงค์ที่สำคัญประการหนึ่งของการมีกฎหมายคุ้มครองเครื่องหมายการค้าก็คือการคุ้มครองผู้บริโภคให้สามารถแยกความแตกต่างในแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือความเป็นเจ้าของได้โดยง่าย รวมทั้งเมื่อพิจารณาถึงเครื่องหมายการค้า SOLO และ SOSO ของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้ทั้งหมด เปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าพิพาทโดยภาพรวมแล้ว เห็นว่า มีความเหมือนหรือคล้ายอย่างชัดแจ้ง
แม้รายชื่อสินค้าจำพวก 6 และจำพวก 8 เป็นคนละรายการกัน แต่เป็นสินค้าจำพวกเครื่องมือช่างช่องทางการจำหน่ายก็อาจเป็นสถานที่เดียวกัน อีกทั้งมีความเป็นไปได้ที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายจะเป็นลูกค้ากลุ่มเดียวกัน โอกาสที่จะทำให้เกิดความสับสนหลงผิดในหมู่สาธารณชนกับตัวเครื่องหมายการค้าย่อมเกิดขึ้นได้ง่าย เมื่อพิจารณาถึงเครื่องหมายการค้า SOLO ของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว ปรากฏว่าได้มีการจดไว้ในรายการสินค้าจำพวก 8 เช่นเดียวกัน รายการสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า SOSO ของจำเลยที่ 3 จึงเป็นรายการสินค้าในประเภทเดียวกันกับสินค้าของโจทก์ที่ใช้คำว่า SOLO และเมื่อคำว่า SOSO มีลักษณะเหมือนคล้ายกับคำว่า SOLO สาธารณชนที่พบเห็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า SOSO ของจำเลยที่ 3 อาจสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 4/2546 และเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 363095 ทะเบียนเลขที่ ค 87720 ของจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าชอบด้วยกฎหมายแล้ว เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 3 แตกต่างกันทั้งรูปลักษณะและเสียงเรียงขาน ไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 ไม่ต้องห้ามมิได้จดทะเบียน ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 มิได้ลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จำเลยที่ 3 ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า SOSO ตามคำขอเลขที่ 363095 ทะเบียนเลขที่ ค 87720 ในจำพวกที่ 8 โดยได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยที่ 3 ไม่มีเจตนาไม่สุจริต สินค้าของโจทก์กับของจำเลยที่ 3 แตกต่างกันไม่ทำให้สาธารณชนกับสนหลงผิดเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนโดยใช้ชื่อบุตรของจำเลยที่ 3 เป็นเครื่องหมายการค้า จำเลยที่ 3 ไม่ได้ละเมิดหรือลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 4/2546 และเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 363095 ทะเบียนเลขที่ ค 87720 ของจำเลยที่ 3 โดยให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการเพิกถอนการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว และห้ามจำเลยที่ 3 เกี่ยวข้องหรือใช้เครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 363095 ทะเบียนเลขที่ ค 87720 อีกต่อไป
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า SOLO ซึ่งได้รับการจดทะเบียนครั้งแรกวันที่ 9 มิถุนายน 2510 ตามคำขอเลขที่ 59289 ทะเบียนเลขที่ 36069 และเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า SOSO ตามคำขอเลขที่ 137627 ทะเบียนเลขที่ 91454 ต่อมาได้ต่ออายุตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 โดยได้มีการเปลี่ยนแปลงจำพวกและรายการสินค้าใหม่โดยเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า SOLO ได้อยู่ในจำพวกสินค้า จำพวก 6, 8, 9, 11, 12 และ 21 ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า SOLO ตามคำขอเลขที่ 59925 ทะเบียนเลขที่ 36209 ยื่นขอจดทะเบียนเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2510 ในจำพวก 12 (เก่า) ทั้งจำพวก ต่อมาได้ต่ออายุตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เป็นคำขอใหม่คือคำขอเลขที่ 335622 ทะเบียนเลขที่ ค 62541 จำพวก 7 รายการสินค้า เครื่องมือตัดหญ้ามีดของเครื่องตัดหญ้า สว่านมือชนิดไฟฟ้า เครื่องหมายการค้า SOLO ตามคำขอเลขที่ 172801 ทะเบียนเลขที่ 119665 ยื่นขอจดทะเบียนเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2531 ในจำพวกสินค้า 6 (เก่า) รายการสินค้าทั้งจำพวก ต่อมาได้ต่ออายุตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เป็นคำขอใหม่เลขที่ 352281 ทะเบียนเลขที่ ค 70065 จำพวก 9 รายการสินค้า เครื่องชั่ง เครื่องดับเพลิง เครื่องบวกเลข คำขอเลขที่ 352282 ทะเบียนเลขที่ ค 70451 จำพวก 7 รายการสินค้า เครื่องจักรตัดวัตถุ กว้าน หรือเครื่องจักรใช้ยกของ คอมเพรสเซอร์ เครืองกลึง เครื่องจักรเจาะตอกรู เครื่องจักรใช้ตกแต่งวัสดุ เครื่องจักรใช้ทำวัสดุเป็นเส้นหรือเกลียว เครื่องจักรใช้ในการฉีดพ่น เครื่องจักรใช้ในการตอก เครื่องจักรใช้ในการบรรจุหีบห่อ เครื่องจักรใช้ในการไส เครื่องฉีดหรือพ่นใช้ในอุตสาหกรรม เครื่องซักล้าง เครื่องยกหรือชักรอก เครื่องลับให้คม เครื่องสูบ เครื่องสูบลม เครื่องเจาะ เครื่องเชื่อมชนิดไฟฟ้า เครื่องเลื่อย เครื่องแกะสลัก ปืนพ่นสี เครื่องหมายการค้า SOSO ตามคำขอเลขที่ 137627 ทะเบียนเลขที่ 91454 ยื่นขอจดทะเบียนเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2527 ในจำพวก 13 รายการสินค้าทั้งจำพวก ต่อมาได้ต่ออายุตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เป็นคำขอเลขที่ 260854 ทะเบียนเลขที่ ค 19247 จำพวก 6 รายการสินค้ากุญแจ กุญแจโลหะ กุญแจยานพาหนะทำด้วยโลหะ กุญแจกระเป๋าทำด้วยโลหะ ส่วนจำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า SOSO ตามคำขอเลขที่ 363095 ทะเบียนเลขที่ ค 87720 จำพวก 8 รายการสินค้า กรรไกร คีมปะแจ ไขควง ปืนฉีดน้ำ คดีมีปัญหาที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามในประการแรกว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า SOSO ตามคำขอเลขที่ 363095 ทะเบียนเลขที่ ค 87720 ที่จำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนไว้เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า SOLO ของโจทก์ จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดสินค้าหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับรูปลักษณะของเครื่องหมายการค้าคำว่า SOLO และ SOSO ของโจทก์แล้ว เห็นว่า ในส่วนของตัวอักษรที่ใช้ในการประกอบคำเครื่องหมายการค้าพิพาทของจำเลยที่ 3 กับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายต่างก็ใช้อักษรโรมันตัวเดียวกัน จำนวนตัวอักษรและลำดับการวางอักษรเหมือนกันทุกประการ และเมื่อเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าคำว่า SOSO ของจำเลยที่ 3 กับเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า SOLO ก็มีความแตกต่างกันเพียงเฉพาะอักษรตัว S กับ L เท่านั้น ซึ่งหากไม่สังเกตก็อาจไม่เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าทั้งสอง จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีรูปลักษณะคล้ายกันส่วนของเสียงเรียกขานนั้น หากพิจารณาจากเครื่องหมายการค้าพิพาทกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว เสียงเรียกขานย่อมไม่ต่างกันเพราะต่างต้องเรียกขานว่า โซโซ เหมือนกัน แต่หากเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า SOLO ก็มีเสียงเรียกขานที่คล้ายกัน โอกาสที่จะมีการออกเสียงเรียกขานไม่ชัดและมีการฟังเสียงเรียกขานเข้าใจคลาดเคลื่อนย่อมเป็นไปได้ เมื่อพิจารณาประกอบกับเหตุผลที่ว่า วัตถุประสงค์ที่สำคัญประการหนึ่งของการมีกฎหมายคุ้มครองเครื่องหมายการค้า ก็คือการคุ้มครองผู้บริโภคให้สามารถแยกความแตกต่างในแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือความเป็นเจ้าของได้โดยง่าย รวมทั้งเมื่อพิจารณาถึงเครื่องหมายการค้า SOLO และ SOSO ของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้ทั้งหมดเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าพิพาทโดยภาพรวมแล้ว เห็นว่า มีความเหมือนหรือคล้ายอย่างแจ้งชัด มิใช่แตกต่างกันดังที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์แต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาที่จะต้องพิจารณาประการต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามมีว่าเครื่องหมายการค้าพิพาทกับเครื่องหมายการค้า SOSO ของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ทั้งนี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์อ้างว่า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้อนุญาตให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทของจำเลยที่ 3 เนื่องจากเป็นสินค้าคนละจำพวกกัน กล่าวคือที่โจทก์จดทะเบียนไว้ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 6 รายการสินค้า กุญแจโลหะ แต่ของจำเลยที่ 3 เป็นจำพวกที่ 8 รายการสินค้า กรรไกร คีม ไขควง ปืนฉีดน้ำ จึงไม่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนนั้น เห็นว่า แม้ชื่อรายการสินค้าจำพวก 6 และจำพวก 8 จะเป็นคนละรายการกัน แต่เป็นสินค้าจำพวกเครื่องเหล็กหรือทำจากโลหะด้วยกันและมีลักษณะเป็นเครื่องมือช่าง ช่องทางการจำหน่ายก็อาจเป็นสถานที่เดียวกัน อีกทั้งมีความเป็นไปได้ที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายจะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน โอกาสที่จะทำให้เกิดความสับสนหลงผิดในหมู่สาธารณชนกับตัวเครื่องหมายการค้าย่อมเกิดขึ้นได้ง่ายเมื่อพิจารณาถึงเครื่องหมายการค้า SOLO ของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้ก่อนแล้วปรากฏว่ามีการจดไว้ในรายการสินค้าจำพวก 8 เช่นเดียวกัน รายการสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า SOSO ของจำเลยที่ 3 จึงเป็นรายการสินค้าในประเภทเดียวกันกับสินค้าของโจทก์ที่ใช้คำว่า SOLO และเมื่อคำว่า SOSO มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับคำว่า SOLO สาธารณชนที่พบเห็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า SOSO ของจำเลยที่ 3 อาจสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลยทั้งสามฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 363095 ทะเบียนเลขที่ ค 87720 ที่จำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนไว้เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายของโจทก์ จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียน คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทและยกคำร้องของโจทก์จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย คดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามในประเด็นข้ออื่นเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share