คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9074/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นไม่ประทับฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยเห็นว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการหรือละเว้นกระทำการตามหน้าที่มิให้มีการยกเลิกการใช้ชื่อของโจทก์ในเอกสารของจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีมูลให้พอฟังว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 264, 268 และ 269 จึงเท่ากับศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานโจทก์แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ร่วมรู้เห็นกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล และตามกฎหมายความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล การที่ศาลชั้นต้นประทับฟ้องจำเลยที่ 1 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น เท่ากับโจทก์อุทธรณ์ว่าการกระทำอันเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เกิดจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำตามหน้าที่ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 โดยตรง อันเป็นการโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อคดีนี้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264, 268 และ 269 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 170 ประกอบมาตรา 193 ทวิ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวโดยเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยโจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องเป็นใจความอย่างเดียวกันขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 90, 91, 264, 268, 269 และพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 312
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 312 และคดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268, 269 ให้ประทับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 คดีไม่มีมูลจึงให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 170 ประกอบมาตรา 193 ทวิ พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์ทั้งสามสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268, 269 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในความผิดฐานดังกล่าว จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 170 ประกอบมาตรา 193 ทวิ ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย แต่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายของโจทก์ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นไม่ประทับฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 โดยเห็นว่าโจทก์ไม่ได้นำสืบให้ศาลเห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการหรือละเว้นกระทำการตามหน้าที่มิให้มีการยกเลิกการใช้ชื่อของโจทก์ในเอกสาร พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีมูลให้พอฟังว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268, 269 จึงเท่ากับว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานโจทก์แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ร่วมรู้เห็นกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ซึ่งการกระทำอันเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 อาจเกิดจากการสั่งการของบุคคลอื่นผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการภายในขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ก็ได้ ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าอุทธรณ์ของโจทก์เป็นปัญหาข้อกฎหมาย คือข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล และตามกฎหมายความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล เมื่อศาลชั้นต้นประทับฟ้องจำเลยที่ 1 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น เท่ากับโจทก์อุทธรณ์ว่าการกระทำอันเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเกิดจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำตามหน้าที่ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 โดยตรง อันเป็นการโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ยกอุทธรณ์ของโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share