แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การบอกเลิกสัญญาจ้างของนายจ้างเป็นการกระทำของนายจ้างที่ไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง เมื่อมาตรา 118 วรรคสอง ไม่ได้บัญญัติว่าการเลิกจ้างต้องกระทำเป็นหนังสือ การที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจาจึงมีผลเป็นการเลิกจ้างตามบทบัญญัติดังกล่าว ส่วนที่มาตรา 17 วรรคสาม บัญญัติให้นายจ้างระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกจ้างนั้นเป็นการบัญญัติถึงวิธีการบอกเลิกสัญญาจ้างในกรณีที่ทำเป็นหนังสือ ไม่ได้ห้ามการบอกเลิกสัญาจ้างด้วยวาจา การบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจาจึงไม่ขัดต่อมาตรา 17 วรรคสาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 20,823 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าชดเชย 122,490 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 20,823 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าชดเชย 122,490 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 มกราคม 2549 ซึ่งเป็นวันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจาขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม หรือไม่ เห็นว่า มาตรา 17 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติเรื่องการที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างในกรณีทำเป็นหนังสือว่าต้องกระทำอย่างไรจึงจะยกเหตุไม่จ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างในภายหลังได้ ซึ่งการจ่ายค่าชดเชยได้บัญญัติไว้ในมาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ส่วนมาตรา 119 บัญญัติถึงกรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง สำหรับการเลิกจ้างนั้น มาตรา 118 วรรคสอง ได้ให้ความหมายของการเลิกจ้างที่นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยว่าหมายถึงการกระทำที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด ดังนั้น การเลิกจ้างจึงต้องพิเคราะห์ถึงการกระทำที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานและไม่จ่ายค่าจ้างให้ และการบอกเลิกสัญญาจ้างของนายจ้างก็เป็นการกระทำของนายจ้างที่ไม่ให้ลูกจ้างที่ไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง จึงถือเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรคสอง เมื่อมาตรา 118 วรรคสอง ไม่ได้บัญญัติว่าการเลิกจ้างต้องกระทำเป็นหนังสือ การที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจาจึงมีผลเป็นการเลิกจ้างตามบทบัญญัติดังกล่าว ส่วนที่มาตรา 17 วรรคสาม บัญญัติให้นายจ้างระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างนั้นเป็นการบัญญัติถึงวิธีการบอกเลิกสัญญาจ้างในกรณีที่ทำเป็นหนังสือ ไม่ได้ห้ามการบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจา การบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจาจึงไม่ขัดต่อมาตรา 17 วรรคสาม อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2549 ขอให้บังคับจำเลยจ่ายดอกเบี้ยในสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 9 มกราคม 2549 ซึ่งเป็นวันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้เสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยในสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.