คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1699/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

กำหนดระยะเวลาบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ที่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น หมายถึง วันที่ศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2533 ต่อมาวันที่ 4 มีนาคม 2534 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ในระหว่างอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2537 จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีสิทธิยื่นฎีกาได้ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้ยื่นฎีกา คดีจึงถึงที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 4 สิงหาคม 2537 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง กำหนดระยะเวลาบังคับคดีต้องนับตั้งแต่วันดังกล่าว ผู้ค้ำประกันยื่นคำแถลงขอคืนหลักประกันเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2545 ยังไม่พ้น 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ศาลจึงไม่อาจคืนหลักประกันให้ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 376,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 130,000 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 48,000 บาท และโจทก์ที่ 4 จำนวน 190,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว และยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้งดการบังคับคดีจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไว้ในระหว่างอุทธรณ์ โดยมีนายสมาน ทองเนียม นำหลักประกันคือโฉนดที่ดินเลขที่ 70433 แขวงหลักสอง เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร มาทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2536 ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2537 ครั้นวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2545 นายสมานผู้ค้ำประกันยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นขอคืนหลักประกันดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิบังคับคดีจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2537 ซึ่งยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี ผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยังไม่พ้นภาระผูกพันตามสัญญาค้ำประกัน จึงไม่อาจคืนให้ได้ ให้ยกคำแถลง
ผู้ค้ำประกันอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
ผู้ค้ำประกันฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ผู้ค้ำประกันฎีกาว่า ผู้ค้ำประกันมีสิทธิขอคืนหลักประกันได้เพราะพ้นกำหนดระยะเวลาที่จะบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 แล้วนั้น เห็นว่า กำหนดระยะเวลาบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ที่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น หมายถึง วันที่ศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด ข้อเท็จจริงได้ความว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2533 ต่อมาวันที่ 4 มีนาคม 2534 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ในระหว่างอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2537 จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีสิทธิยื่นฎีกาได้ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้ยื่นฎีกา คดีจึงถึงที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 4 สิงหาคม 2537 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคสอง กำหนดระยะเวลาบังคับคดีต้องนับตั้งแต่วันดังกล่าว ผู้ค้ำประกันยื่นคำแถลงขอคืนหลักประกันเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2545 ยังไม่พ้น 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ศาลจึงไม่อาจคืนหลักประกันให้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ค้ำประกันฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share