คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5168/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งของจำเลยที่ไล่โจทก์ออกนั้นอ้างเหตุแต่เพียงว่าโจทก์ได้เก็บเงินค่าโดยสารแล้วตัดตั๋วให้ผู้โดยสารไม่ครบราคา เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ มิได้อ้างว่าโจทก์ได้กระทำการดังกล่าวมาแล้วครั้งหนึ่งและจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือไว้แล้ว ดังนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชย จำเลยก็ชอบที่ยกเหตุที่ระบุในหนังสือเลิกจ้างขึ้นเป็นข้อต่อสู้เท่านั้น จำเลยจะยกเหตุที่โจทก์ได้กระทำการดังกล่าวมาแล้วครั้งหนึ่งและจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือไว้แล้วซึ่งนอกเหนือจากที่ระบุในคำสั่งของจำเลยอันเป็นหนังสือเลิกจ้างขึ้นต่อสู้ไม่ได้
เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าการที่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานเก็บค่าโดยสารได้รับเงินค่าโดยสารจากผู้โดยสารเป็นธนบัตรฉบับละ 20 บาท โจทก์ได้ตัดตั๋วราคา 6 บาท และทอนเงิน 4 บาท ให้แก่ผู้โดยสาร ซึ่งเป็นการตัดตั๋วไม่ครบราคา โดยโจทก์ไม่มีเจตนาเบียดบังเงินจำนวน 10 บาท เป็นของตนโดยทุจริต แต่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยเสียหายเพียงเล็กน้อย ดังนี้การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ และคำสั่งของจำเลยกรณีที่ไม่ร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จึงต้องจ่ายค่าชดเชย และย่อมเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุสมควร มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานเก็บค่าโดยสารรถโดยประจำทางปรับอากาศสาย ปอ. ๒ ต่อมาจำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงาน โจทก์เห็นว่าการเลิกจ้างของจำเลยไม่เป็นธรรมต่อโจทก์เพราะโจทก์ไม่มีความผิด ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่ไล่โจทก์ออกจากงานที่ ๕๒๔/๒๕๔๓ ฉบับลงวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๓ และให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมอัตราค่าจ้างเดิมหรือไม่ต่ำกว่าเดิม ได้รับสวัสดิการเหมือนเดิมและนับอายุงานต่อเนื่องเสมือนไม่มีการให้โจทก์ออกจากงาน หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน ๕๖,๓๗๖.๕๒ บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ๘๐,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของค่าชดเชย และในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม นับแต่วันเลิกจ้าง เป็นต้นไปจนกว่าจำชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยมีคำสั่งเขตการเดินรถที่ ๒ ที่ ๕๒๔/๒๕๔๓ ลงโทษไล่โจทก์ออกจากพนักงาน ชอบด้วยระเบียบข้อบังคับและกฎหมายแรงงานแล้ว ไม่ถือเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเนื่องจากโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยโจทก์ทำหน้าที่ขายตั๋วโดยสารบนรถได้ตัดตั๋วให้ผู้โดยสารไม่ครบราคา โดยผู้โดยสารขึ้นรถที่ถนนสีลมไปลงที่วัดบำเพ็ญเหนือได้ชำระค่าโดยสารเป็นธนบัตรฉบับละ ๒๐ บาท ซึ่งค่าโดยสารตามตารางกำหนด ๑๖ บาท แต่โจทก์ตัดตั๋วโดยสารให้ผู้โดยสารชนิดราคา ๖ บาท ทอนเงินให้ ๔ บาท เป็นการเบียดบังเงิน ๑๐ บาท ไปเป็นประโยชน์ของตนโดยทุจริต ซึ่งโจทก์เคยกระทำมาครั้งหนึ่ง จำเลยได้มีคำสั่งที่ ๑๒๘/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๒ ว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ว่าอย่ากระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับระเบียบคำสั่งในเรื่องนี้อีก หากฝ่าฝืนจะพิจารณาลงโทษสถานหนักต่อไป โจทก์ไม่มีสิทธินำส่วนแบ่งจากการขายตั๋วโดยสารประจำวัน ซึ่งคิดเป็นอัตราร้อยละและมีจำนวนไม่แน่นอน หากโจทก์ไม่มาทำงานขายตั๋วบนรถก็ไม่มีสิทธิได้รับ เงินส่วนแบ่งไม่ใช่ค่าจ้าง และเงิน ๑๙,๖๕๖.๕๒ บาท ที่โจทก์อ้างไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงจะนำมาคิดรวมกับค่าชดเชย ๓๖,๗๒๐ บาท หาได้ไม่ โจทก์เรียกดอกเบี้ยค่าชดเชยเกินกว่ากฎหมายกำหนด และการเลิกจ้างโจทก์ครั้งนี้จำเลยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยตามข้อบังคับจำเลย ฉบับที่ ๔๖ ซึ่งถือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้ว จึงไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ๘๐,๐๐๐ บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ในปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่า เหตุเลิกจ้างที่จำเลยได้กล่าวอ้างในคำสั่งที่ ๕๒๔/๒๕๔๓ ไม่ได้ระบุถึงการกระทำผิดซ้ำคำเตือน จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุดังกล่าวมาเป็นเหตุในการต่อสู้คดีกับโจทก์ได้ ศาลแรงงานกลางได้หยิบยกเหตุข้อต่อสู้ของจำเลยมาวินิจฉัยลงโทษ (น่าจะใช้คำว่า “เป็นโทษแก่”) โจทก์ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ นั้น เห็นว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ และระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๓ ข้อ ๔๕, ๔๖ ไม่ได้อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ตามคำสั่งของจำเลยที่ ๕๒๔/๒๕๔๓ ที่ไล่โจทก์ออกจากงานนั้น อ้างเหตุแต่เพียงว่าโจทก์ได้เก็บเงินค่าโดยสารแล้วตัดตั๋วให้ผู้โดยสารไม่ครบราคา เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่งของจำเลยเป็นเหตุให้เสียหายแก่จำเลยอย่างร้ายแรง มิได้อ้างว่าโจทก์ได้กระทำการดังกล่าวมาแล้วครั้งหนึ่งและจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือไว้แล้ว ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยจำเลยก็ชอบที่ยกเหตุที่ระบุในหนังสือเลิกจ้างขึ้นเป็นข้อต่อสู้เท่านั้น จำเลยจะยกเหตุที่โจทก์ได้กระทำการดังกล่าวมาแล้วครั้งหนึ่งและจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือไว้แล้ว ซึ่งนอกเหนือจากที่ระบุในคำสั่งของจำเลยที่ ๕๒๔/๒๕๔๓ อันเป็นหนังสือเลิกจ้างขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไม่ได้ อุทธรณ์ของในข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนในปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ความเสียหายที่จำเลยได้รับคือเงินจำนวน ๑๐ บาท ถือเป็นเงินจำนวนเล็กน้อย การเลิกจ้างของจำเลยจึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา ๑๑๙(๓) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยตามฟ้อง และการกระทำของโจทก์ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ ๔๖ พ.ศ. ๒๕๒๔ บทลงโทษยังไม่ถึงขั้นเลิกจ้าง คำสั่ง ๕๒๔/๒๕๔๓ ให้โจทก์ออกจากงานจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การต่อสู้คดีไว้ว่าโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบคำสั่งของจำเลยที่ ๕๒๔/๒๕๔๓ แล้วถือได้ว่าจำเลยอ้างว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับและคำสั่งของจำเลยในกรณีร้ายแรง จำเลยมิได้ให้การว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงจึงไม่ตรงกับข้ออ้างในหนังสือเลิกจ้างและเป็นเรื่องที่จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปตามเหตุเลิกจ้างที่จำเลยอ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้างและจำเลยได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีซึ่งศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริง ว่าโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานเก็บค่าโดยสารได้รับเงินค่าโดยสารจากผู้โดยสารเป็นธนบัตรฉบับละ ๒๐ บาท โจทก์ได้ตัดตั๋วราคา ๖ บาทและทอนเงิน ๔ บาท ให้แก่ผู้โดยสารดังกล่าว ซึ่งเป็นการตัดตั๋วไม่ครบราคา โจทก์ไม่มีเจตนาเบียดบังเงินจำนวน ๑๐ บาท เป็นของตนโดยทุจริต แต่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยเสียหายเพียงเล็กน้อย ดังนี้การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ และคำสั่งของจำเลยในกรณีที่ไม่ร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุตามคำสั่งของจำเลยที่ ๕๒๔/๒๕๔๓ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น แต่จำเลยให้การต่อสู้ไว้ด้วยว่าเงินส่วนแบ่งจากการขายตั๋วโดยสารประจำวันไม่ใช่ค่าจ้างและเงิน ๑๙,๖๕๖.๕๒ บาท ที่โจทก์อ้างไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงจะนำมาคำนวณรวมกับค่าชดเชย ๓๖,๗๒๐ บาทไม่ได้ ปัญหาและข้อเท็จจริงส่วนนี้ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้วินิจฉัย จึงเห็นสมควรให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในปัญหาว่าเงินส่วนแบ่งจากการขายตั๋วโดยสารประจำวันเป็นค่าจ้างหรือไม่ หากเป็นค่าจ้างเงินส่วนแบ่งจากการขายตั๋วโดยสารประจำวันที่จำนำมาคำนวณเป็นค่าชดเชยมีจำนวนเท่าใด และโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจำนวนเท่าใด
สำหรับปัญหาว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น เห็นว่า การที่จำเลยเลิกจ้างด้วยเหตุที่โจทก์กระทำผิดดังกล่าวมา ย่อมเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุสมควรมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ อุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหานี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับค่าชดเชย ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหาว่าเงินส่วนแบ่งจากการขายตั๋วโดยสารประจำวันเป็นค่าจ้างหรือไม่ หากเป็นค่าจ้าง เงินส่วนแบ่งจากการขายตั๋วโดยสารประจำวันที่จะนำมาคำนวณค่าชดเชยมีจำนวนเท่าใด และโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจำนวนเท่าใด แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share