คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1672/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานประกอบกิจการสถานพยาบาลและความผิดฐานดำเนินการสถานพยาบาล แม้จะมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 57 ด้วยกัน แต่กฎหมายได้บัญญัติการกระทำอันเป็นความผิดทั้งสองกรณีแยกจากกันตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง กรณีหนึ่ง และมาตรา 24 วรรคหนึ่ง อีกกรณีหนึ่ง โดยมีหลักเกณฑ์การขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลและใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาลที่แตกต่างกัน แสดงให้เห็นได้ชัดว่าการกระทำความผิดในแต่ละฐานความผิดดังกล่าวต่างมีสภาพและลักษณะของการกระทำประกอบด้วยเจตนาต่างกัน สามารถแยกเป็นส่วนต่างหากจากกันได้ ซึ่งหากมีการกระทำฝ่าฝืนก็จะต้องถูกลงโทษเป็นแต่ละกรณีไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน การที่ศาลล่างลงโทษจำเลยเป็นกรรมเดียวจึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225 แต่ไม่อาจเพิ่มเติมโทษจำเลยเพราะเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2547 เวลากลางวัน จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยประกอบโรคศิลปะแก่ประชาชนทั่วไปที่มาทำการรักษาโดยใช้ธูปจี้ตามร่างกายเพื่อรักษาอาการโรคปวดข้อ อัมพฤกษ์ อัมพาต ฯลฯ โดยจำเลยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะจากคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะ จำเลยประกอบกิจการและดำเนินการสถานพยาบาลชื่อ พ่อปูฤาษีสุคโต บำบัดโรคด้วยเดโชกสินและจี้จุดรักษาโรคด้วยธูป ซึ่งเป็นสถานที่จัดไว้เพื่อประกอบโรคศิลปะสาขากายภาพบำบัดโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เจ้าพนักงานจับจำเลยพร้อมยึดได้ซองกระดาษสีขาวบรรจุธนบัตรรวม 34 ซอง เป็นเงิน 790 บาท ถาดพลาสติกใส่ธูป 1 มัด จำนวน 1 ชุด แผ่นไม้อัดขนาด 1.20 เมตร เขียนข้อความว่าพ่อปู่ฤาษีสุคโตบำบัดโรคด้วยเดโชกสิน และจี้จุดรักษาโรคด้วยธูปจำนวน 2 แผ่น สมุดบัญชีรายชื่อผู้ป่วย 1 เล่ม ถุงย่าม 1 ถุง ที่จำเลยมีไว้และใช้ในการกระทำความผิดและได้มาจากการกระทำความผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 มาตรา 30, 57 พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 16, 24, 57 ประกอบกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 มาตรา 30, 57 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง, 24 วรรคหนึ่ง, 57 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานประกอบโรคศิลปะโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานประกอบกิจการและดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 เดือน รวมจำคุก 4 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า สมควรลงโทษจำเลยในสถานเบาและรอการลงโทษให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการหาประโยชน์บนความเดือดร้อนของผู้อื่นโดยอาศัยความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน ทั้งที่ประชาชนผู้เจ็บป่วยเหล่านี้ก็มีความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยมากพออยู่แล้ว ยังกลับต้องมารับความเดือดร้อนเพิ่มเติมจากการกระทำของจำเลย และต้องเสียโอกาสที่จะได้รับการรักษาพยาบาลที่ถูกต้องตามหลักวิชาการอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ยังปรากฏจากรายงานการสืบเสาะและพินิจของจำเลยซึ่งได้อ่านให้จำเลยฟังแล้วโดยจำเลยไม่คัดค้านว่า จำเลยเคยกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันกับคดีนี้และเคยถูกศาลพิพากษาลงโทษมาแล้ว แต่ก็ยังไม่เข็ดหลาบกลับมากระทำความผิดเป็นคดีนี้อีก พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นเรื่องร้ายแรง กรณีไม่มีเหตุอันควรปรานีรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ความผิดฐานประกอบกิจการสถานพยาบาลและความผิดฐานดำเนินการสถานพยาบาล แม้จะมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 57 ด้วยกัน แต่กฎหมายได้บัญญัติการกระทำอันเป็นความผิดทั้งสองกรณีแยกจากกันตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง กรณีหนึ่งและมาตรา 24 วรรคหนึ่ง อีกกรณีหนึ่ง โดยมีหลักเกณฑ์การขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลและใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาลที่แตกต่างกันแสดงให้เห็นได้ชัดว่าการกระทำความผิดในแต่ละฐานความผิดดังกล่าวต่างมีสภาพและลักษณะของการกระทำประกอบด้วยเจตนาต่างกัน สามารถแยกเป็นส่วนต่างหากจากกันได้ ซึ่งหากมีการกระทำฝ่าฝืนก็จะต้องถูกลงโทษเป็นแต่ละกรณีไป การกระทำของจำเลยตามฟ้องสำหรับทั้งสองกรณีนี้ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวเป็นกรรมเดียวจึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225 แต่ไม่อาจเพิ่มเติมโทษจำเลยเพราะเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง, 57 กระทงหนึ่ง และมาตรา 24 วรรคหนึ่ง, 57 อีกกระทงหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share