คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8439/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงว่าจำเลยตกลงให้ค่าตอบแทนแก่โจทก์เป็นอัตราร้อยละ 10 จากจำนวนค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนที่จำเลยได้รับเพิ่มขึ้นตามคำพิพากษา แสดงว่าค่าตอบแทนที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยย่อมขึ้นอยู่กับค่าทดแทนที่จำเลยได้รับ หากจำเลยไม่ได้รับค่าทดแทนโจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนจากจำเลย จึงมีลักษณะที่โจทก์ซึ่งเป็นทนายความเข้ามีส่วนได้ส่วนเสียทางทรัพย์ในผลแห่งคดีความของจำเลยซึ่งเป็นลูกความ แม้จะไม่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย แต่ก็เป็นสัญญาที่ฝ่าฝืนต่อหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพทนายความ เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความดำเนินคดีแพ่งต่อกรมทางหลวงกับพวกเรื่องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนตกลงค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นเงิน 50,000 บาท จำเลยชำระค่าใช้จ่ายให้โจทก์แล้ว 30,000 บาท คงค้างอยู่อีก 20,000 บาท ส่วนค่าจ้างว่าความตกลงกันในอัตราร้อยละ 10 ของจำนวนค่าทดแทนที่ได้เพิ่มขึ้นตามคำพิพากษา โจทก์ยื่นฟ้องคดีถึงที่สุดศาลพิพากษาให้จำเลยได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้น 504,110 บาท จำเลยได้รับเงินตามคำพิพากษาแล้ว จำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าใช้จ่ายที่ค้างจำนวน 20,000 บาท และค่าจ้างว่าความ 70,211 บาท รวมเป็นเงิน 90,211 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 90,211 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างว่าความจากส่วนได้ตามคำพิพากษาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้เท่าที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 50,400 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ประกอบอาชีพทนายความ จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 11766 และ 11767 ตำบลคลองสวนพลู (ไผ่ลิง) อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวได้ถูกทางราชการเวนคืนเนื้อที่บางส่วนรวม 126 ตารางวาเพื่อขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 สายบางปะอิน – พยุหคีรี จำเลยได้รับค่าทดแทนแล้วแต่ยังไม่พอใจค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนด จึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต่อมาจำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นทนายความให้ฟ้องเรียกค่าทดแทนที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากกรมทางหลวงกับพวกโดยตกลงค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นเงิน 50,000 บาท โจทก์ได้รับแล้ว 30,000 บาท คงค้างอยู่อีกบางส่วน ส่วนค่าจ้างว่าความตกลงให้โจทก์เป็นจำนวนในอัตราร้อยละ 10 จากจำนวนค่าทดแทนที่จำเลยได้รับเพิ่มขึ้นตามคำพิพากษา หลังจากการดำเนินคดีดังกล่าวในศาลคดีถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์พิพากษาให้กรมทางหลวงกับพวกจ่ายค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นให้จำเลยจำนวน 504,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 702,110 บาท คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าวเป็นโมฆะหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงว่าจำเลยตกลงให้ค่าตอบแทนแก่โจทก์เป็นอัตราร้อยละ 10 จากจำนวนค่าทดแทนที่จำเลยได้รับเพิ่มขึ้นตามคำพิพากษา แสดงว่าค่าตอบแทนที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยย่อมขึ้นอยู่กับค่าทดแทนที่จำเลยได้รับหรือเงินที่จำเลยได้รับ หากจำเลยไม่รับค่าทดแทนหรือเงินรายนี้โจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนจากจำเลย สัญญาจ้างว่าความเช่นนี้จึงมีลักษณะที่โจทก์ซึ่งเป็นทนายความเข้ามีส่วนได้ส่วนเสียทางทรัพย์สินในผลแห่งคดีของจำเลยซึ่งเป็นลูกความ ไม่เหมือนสัญญาจ้างว่าความที่คิดค่าจ้างเป็นอัตราร้อยละของทุนทรัพย์ที่เรียกร้องหรือพิพาทกันในคดีซึ่งทนายความพึงได้รับค่าจ้างว่าความเป็นจำนวนเงินที่ตายตัวโดยไม่ต้องคำนึงถึงผลคดีว่าจะแพ้หรือชนะอย่างไร ดังนี้สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าวแม้จะไม่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย แต่ก็เป็นสัญญาที่ฝ่าฝืนต่อหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพทนายความ เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share