คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7656/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้กับโจทก์เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2540 โดยรับว่าเป็นหนี้กู้ยืมเงินโจทก์ 60,000 บาท จึงมีผลเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือและเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ด้วย การกู้ยืมเงินไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ส่วนหนังสือรับสภาพหนี้ไม่มีอายุความในตัวเองเพียงแต่มีผลทำให้อายุความในมูลหนี้เดิมสะดุดหยุดลง เมื่อนับแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2540 ถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ฟ้องคดียังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ
การที่ลูกหนี้รับสภาพหนี้มิใช่กรณีลูกหนี้รับสภาพความผิดภายหลังมูลหนี้เดิมขาดอายุความแล้วที่จะมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับสภาพหนี้โดยรับว่าเป็นหนี้กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 60,000 บาท ยินยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ดังกล่าว หลังจากการทำสัญญาแล้วไม่มีการชำระหนี้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้เงินแก่โจทก์ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 60,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2540 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2544 พ้นกำหนดระยะเวลา 2 ปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 มีนาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีคำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ได้โต้แย้งในชั้นฎีกาว่า เมื่อต้นปี 2540 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์หลายครั้ง แต่ไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมไว้ ต่อมาวันที่ 13 พฤษภาคม 2540 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์ โดยรับว่าเป็นหนี้เงินยืมจำนวน 60,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 และมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.2 ตกลงผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือน แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า หนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.1 ต้องอยู่ในข้อบังคับอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35 โจทก์ฟ้องคดีเกิน 2 ปี นับแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า เมื่อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2540 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้กับโจทก์ โดยรับว่าเป็นหนี้กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 60,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 เช่นนี้ หนังสือรับสภาพหนี้ เอกสารหมาย จ.1 จึงมีผลเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือและเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ด้วย การกู้ยืมเงินไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ส่วนหนังสือรับสภาพหนี้ไม่มีอายุความในตัวเอง เพียงแต่มีผลทำให้อายุความในมูลหนี้เดิมสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อนับแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2540 ซึ่งเป็นวันทำหนังสือรับสภาพหนี้ ถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ฟ้องคดียังไม่เกิน 10 ปี ดังนั้น คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่าต้องอยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35 นั้น เป็นกรณีลูกหนี้รับสภาพความผิดภายหลังมูลหนี้เดิมขาดอายุความแล้วจึงใช้อายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/35 บังคับ ซึ่งรูปเรื่องไม่ตรงกับคดีนี้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share