แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ร่วมกันนำชี้ที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงโดยไม่ถูกต้อง เป็นเหตุให้มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ดินพิพาทส่วนที่โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง และจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 เข้าไปขุดดินในที่ดินพิพาทส่วนที่โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 6 ครอบครอง เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 6 ใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวไม่ได้และต้นไม้ที่ปลูกไว้เสียหาย ขอให้มีคำสั่งว่าโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 เกี่ยวข้อง ให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงฉบับดังกล่าวโดยให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 นำชี้แนวเขตให้ถูกต้อง และจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 6 พร้อมกับปรับสภาพที่ดินพิพาทให้ใช้ประโยชน์ได้ตามปกติ หากศาลพิพากษาให้โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 ชนะคดีย่อมมีผลทำให้โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทซึ่งถือว่าคำขอส่วนนี้เป็นคำขอหลักหรือคำขออันเป็นประธาน ส่วนคำขออื่นถือว่าเป็นคำขอต่อเนื่องหรือคำขอรอง เมื่อคำขอหลักเป็นคำขอที่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ย่อมถือได้ว่าเป็นคดีมีทุนทรัพย์โดยคำนวณทุนทรัพย์จากราคาที่ดินพิพาทแต่ละแปลงที่โจทก์แต่ละแปลงที่โจทก์แต่ละคนครอบครอง เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนสามารถใช้สิทธิเฉพาะตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แยกต่างหากจากกันได้และเมื่อรวมกับค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 6 เรียกร้องมาอีกส่วนหนึ่งด้วยแล้วปรากฏว่าคดีในส่วนของโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 คำนวณทุนทรัพย์ได้เป็นเงิน 25,000 บาท 32,500 บาท 45,000 บาท และ 150,000 บาท ตามลำดับ ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์สำหรับคดีในส่วนของโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 จึงไม่เกิน 50,000 บาท โจทก์ที่ 3 และที่ 5 ย่อมไม่อาจอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้เพราะต้องห้ามตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ทั้งแปดฟ้องว่า โจทก์ทั้งแปดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลนายูง อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี โดยที่โจทก์ที่ 1 ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 411 ตำบลนายูง อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี เนื้อที่ 1 ไร่ 91 ตารางวา โจทก์ที่ 2 ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 409 ตำบลนายูง อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี เนื้อที่ 3 งาน 6 ตารางวา โจทก์ที่ 3 ครอบครองที่ดินเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ โจทก์ที่ 4 ครอบครองที่ดินเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ 2 งาน โจทก์ที่ 5 ครอบครองที่ดินเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ โจทก์ที่ 6 ครอบครองที่ดินเนื้อที่ประมาณ 27 ไร่ โจทก์ที่ 7 ครอบครองที่ดินเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 3 งาน และโจทก์ที่ 8 ครอบครองที่ดินเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ เมื่อปี 2533 อำเภอศรีธาตุ โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายอำเภอ และสภาตำบลนายูง โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นประธานกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นกรรมการ ได้ร่วมกันนำชี้ที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงโดยไม่ได้แจ้งให้ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินบริเวณใกล้เคียงไปรับรองแนวเขต เป็นเหตุให้มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ 47473 ทับที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งแปดโดยมิชอบ หลังจากนั้นจำเลยทั้งหกแจ้งให้โจทก์ทั้งแปดออกไปจากที่ดินพิพาทและห้ามทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์โจทก์ทั้งแปดขอให้จำเลยที่ 2 เพิกถอนและให้รังวัดใหม่ แต่จำเลยที่ 2 เพิกเฉย ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 เข้าไปขุดดินในที่ของโจทก์ที่ 4 ถึงที่ 6 ทำให้โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 6 ใช้ประโยชน์ในที่ดินไม่ได้และต้นไม้ที่ปลูกไว้ได้รับความเสียหายโดยต้นข้าวโพดของโจทก์ที่ 4 เสียหายคิดเป็นเงิน 10,000 บาท ต้นอ้อยของโจทก์ที่ 5 เสียหายคิดเป็นเงิน 10,000 บาท ไม้ยืนต้นของโจทก์ที่ 6 เสียหายคิดเป็นเงิน 15,000 บาท และโจทก์ที่ 4 ถึงที่ 6 ขอคิดค่าเสียหายเนื่องจากขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินปีละ 25,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกนำชี้แนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์โคกนายูง ตามทะเบียนที่สาธารณประโยชน์แปลงที่ 5 ตำบลนายูง อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีการออกเป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ 47473 ให้ถูกต้อง ให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงฉบับดังกล่าว และมีคำสั่งว่าโจทก์ทั้งแปดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามแผนที่สังเขปเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ห้ามจำเลยทั้งหกเกี่ยวข้อง ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 4 และที่ 5 คนละ 10,000 บาท และแก่โจทก์ที่ 6 จำนวน 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 6 ปีละ 25,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะดำเนินการปรับสภาพที่ดินให้ใช้ประโยชน์ได้ตามปกติภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาโดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงตามฟ้องออกโดยชอบด้วยกฎหมายโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8 บุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 7 และที่ 8 ขอถอนฟ้อง ส่วนโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 ขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาตและมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 7 ที่ 8 และจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 ฟ้องอ้างว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ร่วมกันนำชี้ที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงโดยไม่ถูกต้อง เป็นเหตุให้มีการออกหนังสือที่ดินสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ดินพิพาทส่วนที่โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง และจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 เข่าไปขุดดินในที่ดินพิพาทส่วนที่โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 6 ครอบครอง เป็นเหตุให้โจทก็ที่ 4 ถึงที่ 6 ใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวไม่ได้และต้นไม้ที่ปลูกไว้เสียหาย ขอให้มีคำสั่งว่าโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 เกี่ยวข้อง ให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงฉบับดังกล่าวโดยให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 นำชี้แนวเขตให้ถูกต้อง และให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 6 พร้อมกับปรับสภาพที่ดินพิพาทให้ใช้ประโยชน์ได้ตามปกติ แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 ดังกล่าวจะมีทั้งคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และคำขอให้ปลดเปลื้องทุกอันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วย แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์มิใช่ที่ดินที่โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 มีสิทธิครอบครอง ประเด็นข้อพิพาทที่เป็นประเด็นหลังจึงมีว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 หรือเป็นที่สาธารณประโยชน์หากศาลพิพากษาให้โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 ชนะคดีย่อมมีผลทำให้โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามคำขอท้ายฟ้องซึ่งถือว่าคำขอส่วนนี้เป็นคำขอหลักหรือคำขออันเป็นประธาน ส่วนคำขออื่นถือว่าเป็นคำขอต่อเนื่องหรือคำขอรอง เมื่อคำขอหลักหรือคำขออันเป็นประธานเป็นคำขอที่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ย่อมถือได้ว่าคดีนี้มีทุนทรัพย์ โดยคำนวณทุนทรัพย์จากราคาที่ดินพิพาทแต่ละแปลงที่โจทก์แต่ละคนครอบครอง เพราะตามรูปคดีเป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนสามารถใช้สิทธิเฉพาะตัวตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาแพ่ง มาตรา 55 แยกต่างหากจากกันได้ มิใช่ถือตามราคาที่ดินพิพาททั้งหมดทุกแปลงที่ฟ้องรวมกันมา และเมื่อรวมกับค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 6 เรียกร้องมาอีกส่วนหนึ่งด้วยแล้วปรากฏว่าคดีในส่วนของโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 คำนวณทุนทรัพย์ได้เป็นเงิน 25,000 บาท 32,500 บาท 45,000 บาท 150,000 บาท ตามลำดับ ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์สำหรับคดีในส่วนของโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 จึงไม่เกิน 50,000 บาท โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 ย่อมไม่อาจอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 อุทธรณ์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 และจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 กระทำละเมิดเข้าไปขุดดินในที่ดินพิพาทนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นซึ่งวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณประโยชน์ และจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 4 และที่ 5 จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 จึงไม่ชอบ และถือไมได้ว่าเป็นข้อเท็จที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ฎีกาของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จึงไม่ชอบด้วยประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนคดีของโจทก์ที่ 6 แม้ทุนทรัพย์จะเกิน 50,000 บาท ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง แต่ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาก็ไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ที่ 6 ฎีกาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ที่ 6 และจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 6 นั้นเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ที่ 6 เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 กับยกฎีกาของโจทก์ที่ 3 ที่ 5 และยกฎีกาของโจทก์ที่ 6 คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดในชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 และคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดในชั้นฎีกาแก่โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ