แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งอุทธรณ์ของจำเลยมีรอยลบด้วยหมึกสีขาวแล้วเขียนทับลงบนรอยลบ อันเป็นการขูดลบโดยมิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 46 วรรคสอง เป็นการไม่ชอบ ต่อมาจำเลยได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียม อ้างว่าจำเลยไม่สามารถหาเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลได้ทันตามกำหนด อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ขัดแย้งกับคำสั่งของศาลชั้นต้นบนรอยลบด้วยหมึกสีขาวที่สั่งไม่รับอุทธรณ์ไปแล้ว แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นที่แก้ไขคำสั่งเดิมแล้วมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว เมื่อปรากฏแก่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาเช่นนี้ ย่อมมีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งให้เพิกถอนหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งเสียได้ตามมาตรา 27 เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม โดยไม่ต้องให้จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนเสียก่อน ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งแก้ไขกระบวนพิจารณาที่มิชอบของศาลชั้นต้น โดยกำหนดเวลาให้จำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมมาวางต่อศาลชั้นต้น
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิจารณาโดยขาดนัด แล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 160,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 20,000 บาท นับแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2540 และของต้นเงิน 140,000 บาท นับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2541 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 1 พฤศจิกายน 2545) ไม่เกิน 47,813 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท
จำเลยยื่นคำร้องขอว่า วันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรก จำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้เลื่อนคดีไปนัดสืบพยานโจทก์โดยจำเลยไม่ทราบว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การภายใน 15 วัน ครั้งถึงวันนัดต่อมา จำเลยไม่มาศาลเนื่องจากยังติดภารกิจการฝึกภาคปฏิบัติที่จังหวัดนนทบุรี จึงไม่สามารถแต่งทนายความให้มาปฏิบัติหน้าที่กับไม่สามารถให้ข้อเท็จจริงและจัดเตรียมเอกสารให้แก่ทนายความเพื่อประกอบยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้ จำเลยมิได้มีเจตนาจงใจขาดนัดยื่นคำให้การหรือประวิงคดี กรณีมีเหตุจำเป็นไม่อาจก้าวล่วงได้ ทั้งวันนัดดังกล่าวทนายจำเลยที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งติดว่าความที่ศาลจังหวัดศรีสะเกษ คำฟ้องของโจทก์ไม่มีมูลและขัดต่อกฎหมาย จำเลยได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่คืนหรือทำลายหรือแทงเพิกถอนลงในสัญญากู้กลับนำมาฟ้องจำเลยอีก ส่วนหนี้ตามสัญญากู้เงิน 140,000 บาท โจทก์มอบเงินให้จำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์ไปปล่อยให้แก่บุคคลอื่นกู้ เมื่อรวมแล้วเป็นเงินเพียง 70,000 บาท ถึง 80,000 บาท แต่โจทก์ได้ให้จำเลยทำสัญญากู้จำนวน 140,000 บาท โดยยังนำเงินกู้อีก 20,000 บาท ที่โจทก์ฟ้องรวมเข้าไว้ในสัญญาฉบับนี้ด้วย จึงเป็นยอดหนี้ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากจำเลยได้มีโอกาสต่อสู้คดี ย่อมมีเหตุที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การและมีพฤติการณ์ประวิงคดีทั้งมีเวลาเพียงพอที่จะแต่งทนายความดำเนินคดีแทนจำเลยได้ คดีของจำเลยไม่มีทางชนะโจทก์ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามสำนวนได้ความว่า เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2546 จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยโดยจำเลยมิได้นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนแก่โจทก์มาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้น ศาลชั้นต้นสั่งอุทธรณ์ของจำเลยในวันเดียวกันว่า การที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่นั้น เท่ากับขอให้ศาลอุทธรณ์ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้พิจารณาคดีใหม่ซึ่งอาจมีผลให้จำเลยชนะคดีโจทก์ได้ จำเลยจึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 เมื่อจำเลยไม่นำเงินค่าธรรมเนียมใช้แทนมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ ไม่รับอุทธรณ์ คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดให้จำเลย วันที่ 13 เดือนเดียวกัน จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวอ้างว่าจะครบกำหนดวางเงินค่าธรรมเนียมในวันรุ่งขึ้น แต่จำเลยไม่สามารถจัดหาเงินค่าธรรมเนียมได้ทันตามกำหนดขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมออกไปถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2546 ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องของจำเลยว่า เนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยแล้ว จำเลยจึงไม่อาจขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียม ให้ยกคำร้อง จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งว่าจำเลยทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งอุทธรณ์ของจำเลยฉบับลงวันที่ 8 ตุลาคม 2546 ก่อนที่จะมีรอยลบว่าให้จำเลยวางค่าธรรมเนียมใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งภายใน 7 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่ง จึงจะรับอุทธรณ์จำเลย คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งใหม่บนรอยลบด้วยน้ำหมึกสีขาวที่ว่า “เมื่อจำเลยไม่นำเงินค่าธรรมเนียมใช้แทนมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ ไม่รับอุทธรณ์ คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดให้จำเลย” ซึ่งเป็นคำสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งเดิมโดยมิได้แจ้งให้จำเลยทราบและทำให้จำเลยเสียหายจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 8 ตุลาคม 2546 มีรอยลบและเขียนลงใหม่ เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 วรรคสอง ดังที่จำเลยอ้างในคำร้องจริง แต่ในชั้นนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าคำสั่งเดิมของศาลชั้นต้นจะไม่เป็นจริงดังที่จำเลยกล่าวอ้างในคำร้องฉบับลงวันที่ 13 ตุลาคม 2546 ก่อน ข้อที่จำเลยอ้างในคำร้องอุทธรณ์คำสั่งนี้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ไม่อาจวินิจฉัยให้ได้ ให้ยกคำร้อง คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องฉบับลงวันที่ 13 ตุลาคม 2546 เสียก่อนหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งอุทธรณ์ของจำเลยลงวันที่ 8 ตุลาคม 2546 ปรากฏมีรอยลบด้วยหมึกสีขาวในตอนท้ายแล้วมีข้อความเขียนทับลงบนรอยลบดังกล่าวใหม่เป็นที่ประจักษ์ดังที่จำเลยกล่าวอ้าง อันเป็นการขูดลบโดยศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 46 วรรคสอง เป็นการไม่ชอบดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย และตามสำนวนที่ปรากฏต่อมาว่าจำเลยได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมฉบับลงวันที่ 13 ตุลาคม 2546 อ้างว่าจำเลยไม่สามารถหาเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาวางศาลได้ทันตามกำหนด อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ขัดแย้งกับคำสั่งของศาลชั้นต้นบนรอยลบด้วยหมึกสีขาวที่มีข้อความสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยไปแล้ว และเมื่อพิเคราะห์ตามรูปคดีประกอบคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งอุทธรณ์ในส่วนไม่มีรอยลบด้วยหมึกสีขาวตอนแรกที่ว่า การที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่นั้นเท่ากับขอให้ศาลอุทธรณ์ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้พิจารณาคดีใหม่ซึ่งอาจมีผลให้จำเลยชนะคดีโจทก์ได้ จำเลยจึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 แล้ว ข้อความเดิมต่อจากข้อความดังกล่าวนี้ก็ไม่อาจจะเป็นอย่างอื่นได้นอกจากเป็นข้อความที่สั่งกำหนดเวลาให้จำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาวางต่อศาลภายในระยะเวลาที่กำหนดประกอบกับจำเลยได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมต่อศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 13 ตุลาคม 2546 ภายหลังวันที่จำเลยยื่นอุทธรณ์เพียง 5 วัน พฤติการณ์แห่งคดีตามสำนวนที่ปรากฏแก่ศาลเช่นนี้ จึงมีเหตุอันควรแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นที่แก้ไขคำสั่งเดิมแล้วมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวดังที่กล่าวอ้างมาในคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง มิฉะนั้นก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยจะยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมต่อศาลชั้นต้นโดยอ้างว่าจำเลยไม่สามารถหากเงินมาวางต่อศาลได้ทันตามกำหนด เมื่อความปรากฏแก่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาเช่นนี้ ย่อมมีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งให้เพิกถอนหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งเสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม โดยหาจำต้องให้จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนเสียก่อนดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีกไม่ ดังนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรมีคำสั่งแก้ไขกระบวนพิจารณาที่มิชอบของศาลชั้นต้นดังกล่าวเสีย โดยเพียงแต่กำหนดระยะเวลาให้จำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนแก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาวางต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้จำเลยสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้จำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางต่อศาลชั้นต้นภายใน 15 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลฎีกา แล้วให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 8 ตุลาคม 2546 ของจำเลยต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ