คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4813/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ร้องเคยถูกฟ้องที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ คำฟ้องระบุว่าผู้ร้องอยู่บ้านเลขที่ 155 หมู่ 1 ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ศาลจังหวัดเชียงรายพิพากษาลงโทษผู้ร้องจำคุก 2 ปี ผู้ร้องถูกอายัดตัวมาดำเนินคดีที่จังหวัดนครปฐม ไม่ใช่ผู้ร้องสมัครใจมายึดถิ่นที่อยู่เป็นแหล่งสำคัญที่จังหวัดนครปฐม และผู้ร้องมิได้ประกอบอาชีพใดเป็นกิจลักษณะที่จังหวัดนครปฐมที่จะถือว่าเป็นแหล่งสำคัญของถิ่นที่อยู่ การที่ผู้ร้องถูกฟ้องที่ศาลจังหวัดนครปฐมแต่ได้รับการปล่อยชั่วคราว ก็ไม่ใช่กรณีถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลหรือตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่จะถือว่าเรือนจำจังหวัดนครปฐมเป็นภูมิลำเนาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 47 ผู้ร้องจึงไม่มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดนครปฐม
ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดเชียงราย ผู้ร้องยื่นคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติต่อศาลจังหวัดนครปฐม อ้างว่าเป็นคนสัญชาติไทยเกิดที่จังหวัดเชียงราย ผู้ร้องถูกกล่าวหาว่าไม่มีสัญชาติไทยและถูกดำเนินคดีที่จังหวัดเชียงรายก่อน แสดงว่ามูลคดีอาญาของผู้ร้องเกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (2) ให้ผู้ร้องเสนอคำร้องต่อศาลที่มูลคดีเกิดหรือต่อศาลที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลซึ่งก็คือศาลจังหวัดเชียงราย ไม่ใช่ศาลจังหวัดนครปฐม

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากผู้ร้องถูกดำเนินคดีต่อศาลชั้นต้นคดีหมายเลขดำที่ 6636/2545 ในข้อหาแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ผู้ร้องได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ร้องอ้างว่ามีสัญชาติไทยและมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดนครปฐม จึงยื่นคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติต่อศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นรับคำร้องนัดไต่สวน ข้อเท็จจริงเบื้องต้นได้ความจากผู้ร้องว่าผู้ร้องเกิดที่จังหวัดเชียงราย ศาลชั้นต้นจึงเพิกถอนคำสั่งที่รับคำร้องและมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับคำร้อง คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดแก่ผู้ร้อง จำหน่ายคดีจากสารบบความ
ผู้ร้องขออนุญาตอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีปกครองวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติต่อศาลจังหวัดนครปฐมซึ่งเป็นศาลชั้นต้นหรือไม่ ผู้ร้องอ้างเป็นประเด็นว่า ผู้ร้องถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดนครปฐมและผู้ร้องประกอบกิจการงานเป็นหลักแหล่งสำคัญอยู่จังหวัดนครปฐม ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดนครปฐมนั้น เห็นว่า ตามเอกสารท้ายอุทธรณ์ผู้ร้องเคยถูกฟ้องที่ศาลจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2542 คดีหมายเลขดำที่ 5018/2542 คำฟ้องระบุผู้ร้องอยู่บ้านเลขที่ 155 หมู่ 1 ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ต่อมาผู้ร้องถูกฟ้องที่ศาลจังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2545 คดีหมายเลขดำที่ 6636/2545 คำฟ้องระบุที่อยู่ผู้ร้องเช่นเดิม ศาลจังหวัดเชียงรายพิพากษาลงโทษผู้ร้องจำคุก 2 ปี ตามอุทธรณ์ระบุผู้ร้องถูกอายัดตัวมาดำเนินคดีที่จังหวัดนครปฐม ไม่ใช่ผู้ร้องสมัครใจมายึดถิ่นที่อยู่เป็นแหล่งสำคัญที่จังหวัดนครปฐม และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าผู้ร้องประกอบอาชีพใดเป็นกิจลักษณะที่จังหวัดนครปฐมที่จะถือว่าเป็นแหล่งสำคัญของถิ่นที่อยู่ ส่วนข้อที่ว่าผู้ร้องถูกต้องขังนั้นข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่าผู้ร้องถูกฟ้องที่ศาลจังหวัดนครปฐมและได้รับการปล่อยชั่วคราว จึงไม่ใช่กรณีถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลหรือตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่จะถือว่าเรือนจำจังหวัดนครปฐมเป็นภูมิลำเนาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 47 ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดนครปฐม เมื่อพิจารณาตามหลักฐานสำเนาฟ้องท้ายอุทธรณ์ทั้งสองฉบับดังกล่าวประกอบคำแถลงของผู้ร้องที่ว่า ผู้ร้องเกิดจังหวัดเชียงราย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดเชียงราย ผู้ร้องอ้างว่าเกิดที่จังหวัดเชียงราย แต่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนสำมะโนครัว ผู้ร้องถูกกล่าวหาว่าไม่มีสัญชาติไทยและถูกดำเนินคดีที่จังหวัดเชียงรายก่อน แสดงว่ามูลคดีของผู้ร้องเกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (2) ให้ผู้ร้องเสนอคำร้องต่อศาลที่มูลคดีเกิดหรือต่อศาลที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลซึ่งก็คือศาลจังหวัดเชียงราย ไม่ใช่ศาลจังหวัดนครปฐม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share