แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำว่า บุคคลภายนอกที่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (2) หมายถึงบุคคลทั่วไปนอกคดีที่จะยกขึ้นพิสูจน์ต่อสู้ได้ว่าตนมีสิทธิในที่ดินดีกว่าผู้ครอบครอง ไม่ได้ความหมายเฉพาะเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมซึ่งมีชื่อในโฉนดเท่านั้นที่จะมีอำนาจพิสูจน์ว่าตนมีสิทธิในที่ดินดีกว่าผู้ครอบครอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5534 เมื่อประมาณต้นเดือนตุลาคม 2542 จำเลยเข้าไปบุกรุกสร้างกระท่อมและทำรั้วกั้นในที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้อง ที่ดินพิพาทเป็นของนางทุมมี บัวสีดำ มารดาจำเลย หลังจากมารดาถึงแก่ความตายในปี 2522 นางหนูน้อย คำภู และนายสมุหะ บัวสีดำ พี่น้องจำเลยร่วมกับนายนิเวศน์ รักษ์ศรี ปลอมพินัยกรรมแล้วโอนที่ดินดังกล่าวเป็นของนางหนูน้อยกับนายสมุหะ จากนั้นโอนขายหลอกๆ ให้แก่นายนิเวศน์ ในระหว่างพี่น้องทุกคนได้ตกลงแบ่งที่ดินดังกล่าวเป็นสัดส่วน นางหนูนา (ที่ถูกน่าจะเป็นนางหนูน้อย) กับนายสมุหะได้ส่วนแบ่งทางด้านทิศใต้ คนละ 1 ไร่ 1 งาน ส่วนจำเลยได้ส่วนแบ่ง 3 ไร่ ทางด้านทิศเหนือด้านขวาของที่ดินพิพาท หลังจากนั้นนางหนูน้อยกับนายสมุหะได้ขายส่วนของตนให้แก่โจทก์โจทก์ปลูกสร้างบ้านไม้ยกพื้นสูงไว้ 1 หลัง ต่อมาปี 2536 โจทก์กับนายนิเวศน์สมคบกันให้โจทก์ยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาททั้งแปลง โดยจำเลยกับพี่น้องไม่มีใครทราบ จำเลยได้ครอบครองที่ดินในส่วนของตนมาโดยตลอด โจทก์และนายนิเวศน์ทราบเรื่องนี้ดี ในปีเดียวกันนั้นนายสมุหะจึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 630/2538 ของศาลชั้นต้น และโจทก์นำคดีมาฟ้องหลังจากทราบว่าที่ดินเป็นของจำเลยเกินกว่า 10 ปีแล้ว จึงไม่มีอำนาจฟ้องและขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย 5,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 5534 ตำบลพังขว้าง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร เนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 43 ตารางวา เดิมเป็นของนางทุมมี บัวสีดำ นางทุมมีถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2522 วันที่ 20 มกราคม 2524 นางหนูน้อย คำภู และนายสมุหะ บัวสีดำ จดทะเบียนรับโอนมรดก และวันที่ 5 พฤศจิกายน 2524 จดทะเบียนขายให้แก่นายนิเวศน์ รักษ์ศรี ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอให้มีคำสั่งแสดงว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ โดยจำเลยมิได้เข้าไปเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 29/2536 ว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ตามเอกสารหมาย จ.1 โจทก์จดทะเบียนการได้กรรมสิทธิ์ดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดินวันที่ 10 มีนาคม 2536 ในปีเดียวกันนั้นนายสมุหะเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยเพื่อให้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ส่วนของนายสมุหะ ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 630/2538 ปัจจุบันจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทเป็นจำนวน 3 ไร่ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวโจทก์ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า จำเลยมิได้เป็นคู่ความในคดีที่โจทก์ร้องขอครอบครองปรปักษ์ จึงเป็นบุคคลภายนอกคดีมีอำนาจพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคสอง (2) นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคำว่า บุคคลภายนอกจะต้องหมายถึงเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมซึ่งมีชื่อในโฉนดเท่านั้นที่จะต่อสู้พิสูจน์ว่าตนมีสิทธิในที่ดินดีกว่าผู้ครอบครอง นอกจากนี้การรับฟังพยานหลักฐานจากสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 630/2538 ของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการรับฟังเอกสารนอกสำนวน เพราะสำนวนดังกล่าวเป็นคดีที่โจทก์เรียกมาพ่วง จำเลยหาได้นำสืบหรืออ้างเป็นพยานไม่ ประกอบกับโจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน สิทธิในที่ดินพิพาทของโจทก์ย่อมไม่เสียไป และทางนำสืบของโจทก์ไม่เป็นพิรุธน่าสงสัยนั้น เห็นว่า คำว่า บุคคลภายนอกที่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคสอง (2) นั้น ย่อมหมายถึงบุคคลทั่วไปนอกคดีที่จะยกขึ้นพิสูจน์ต่อสู้ได้ว่าตนมีสิทธิในที่ดินดีกว่าผู้ครอบครอง ไม่ได้ความหมายเฉพาะเพียงเท่าที่โจทก์ฎีกาเท่านั้น ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับฟังพยานหลักฐานในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 630/2538 นั้น เห็นว่า นอกจากโจทก์จะเป็นผู้อ้างเข้ามาในสำนวนแล้ว ก็ยังปรากฏว่าจำเลยได้ระบุอ้างสำนวนคดีดังกล่าวเป็นพยานต่อศาลทั้งสำนวนและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นำมาผูกรวมสำนวนในคดีนี้ ตลอดจนจำเลยยังได้นำสืบให้ปรากฏในชั้นพิจารณา ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงมีอำนาจรับฟังเอกสารในสำนวนนั้นประกอบวินิจฉัยในคดีนี้ได้ไม่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานนอกสำนวน สำหรับฎีกาโจทก์ที่ว่าโจทก์ได้ที่ดินมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและการนำสืบของโจทก์ไม่เป็นพิรุธนั้น เห็นว่า โจทก์มีเพียงตัวโจทก์ปากเดียวเบิกความว่าเมื่อปี 2524 โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 5534 เนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 43 ตารางวา จากนายนิเวศน์ รักษ์ศรี เป็นเงิน 110,000 บาท ชำระเงินสดบางส่วน 30,000 บาท ส่วนที่เหลือตกลงให้นำที่ดินจำนองแก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาพังโคน โดยโจทก์ชำระหนี้จำนองแทนนายนิเวศน์ตั้งแต่ปี 2524 และครอบครองที่ดินทำประโยชน์เรื่อยมา หลังจากชำระหนี้จำนองเสร็จโจทก์ไม่สามารถรับโอนได้เนื่องจากตามตัวนายนิเวศน์ไม่ได้ โจทก์จึงร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งแสดงว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์และจดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง ต่อมาประมาณต้นเดือนตุลาคม 2542 จำเลยบุกรุกเข้าไปในที่ดินโจทก์ปลูกกระท่อมทางด้านทิศเหนือเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ซึ่งตามทางนำสืบของโจทก์ดังกล่าวมีข้อพิรุธน่าสงสัยหลายประการเป็นต้นว่า หากโจทก์ซื้อที่ดินจากนายนิเวศน์จริง เมื่อโจทก์ชำระเงินให้บางส่วนแล้ว ส่วนที่เหลือโจทก์และนายนิเวศน์ตกลงนำที่ดินไปจดทะเบียนจำนอง ตามปกติทั่วไปแล้วในวันจดทะเบียนจำนอง โจทก์จะต้องจัดการให้นายนิเวศน์โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์ก่อน แล้วโจทก์จึงเป็นผู้จำนองเพื่อเอาเงินมาชำระค่าที่ดินที่เหลือให้แก่นายนิเวศน์ แต่กลับได้ความว่านายนิเวศน์เป็นผู้นำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคารเอง และให้โจทก์เป็นผู้ชำระหนี้แทน จึงเป็นการผิดปกติอย่างยิ่งเพราะการจำนองก็เพื่อจะนำเงินไปชำระค่าที่ดินให้แก่นายนิเวศน์ ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์ต้องยอมให้ที่ดินเป็นชื่อของนายนิเวศน์อยู่อีกเนื่องจากนายนิเวศน์ได้รับเงินค่าจำนองที่ดินไปแล้ว นอกจากนี้โจทก์ยังเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า โจทก์เคยจ่ายเงินแก่นางหนูน้อยจำนวน 70,000 บาท ซึ่งนางหนูน้อยเป็นคนหนึ่งที่ร่วมกับนายสมุหะขายที่ดินพิพาทให้แก่นายนิเวศน์ ทำให้น่าสงสัยเพิ่มขึ้นว่าเหตุใดโจทก์จึงต้องจ่ายเงินให้แก่นางหนูน้อยซึ่งเป็นผู้ขายที่ดินพิพาทให้แก่นายนิเวศน์อีก ทั้งที่โจทก์ได้ชำระค่าที่ดินให้แก่นายนิเวศน์ครบถ้วนแล้ว รวมทั้งถ้ามีการซื้อขายที่ดินพิพาทและได้ชำระเงินกันครบถ้วนแล้วก็ไม่มีเหตุผลใดที่นายสมุหะจะต้องฟ้องโจทก์ขอให้โอนที่ดินพิพาทคืนเป็นเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ อีกเช่นกัน จึงน่าเชื่อตามทางนำสืบของจำเลยว่าโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่า นายนิเวศน์มีส่วนในที่ดินประมาณ 4 ไร่ เท่านั้น จึงยอมจ่ายเงินให้เพิ่มอีก ส่วนกรณีที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในที่ดินประมาณต้นเดือนตุลาคม 2542 นั้น แต่กลับได้ความจากโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านยอมรับว่าในปี 2538 จำเลยเข้าอยู่ในที่ดินพิพาทแล้ว ซึ่งในเรื่องนี้จำเลยนำสืบได้ว่าจำเลยเข้าไปปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินส่วนของจำเลยเมื่อปี 2530 ดังนั้น เมื่อโจทก์ยืนยันว่าได้ชำระหนี้จำนองแทนนายนิเวศน์ตั้งแต่ปี 2524 และเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเรื่อยมา โจทก์ย่อมเห็นจำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทแล้ว หากโจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งแปลง ก็น่าจะดำเนินการขับไล่ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทตั้งแต่เวลานั้นแล้ว แต่โจทก์กลับมาฟ้องเมื่อปี 2543 จึงเป็นกรณีที่เป็นพิรุธเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาเชื่อว่าจำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.