แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.วิธีดำเนินการควบคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา ฯ มาตรา 13 ศาลมีอำนาจที่จะนำข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยที่พนักงานคุมประพฤติส่งศาลมาประกอบการใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยเท่านั้น จะนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อวินิจฉัยการกระทำที่ถูกฟ้องด้วยหาได้ไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณารายงานการสืบเสาะและพินิจแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงไม่แน่ชัดว่าของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือประเภท 3 จึงมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นสืบพยานเพิ่มเติมในประเด็นที่ว่าของกลางเป็นยาแก้ไอที่มีส่วนผสมของโคเดอีนหรือไม่ ศาลชั้นต้นนัดพร้อมโจทก์และจำเลย และโจทก์ส่งรายงานตรวจวิเคราะห์ยาเสพติดให้โทษของกลางเอกสารหมาย จ. 1 ต่อศาลโดยคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงและไม่คัดค้านผลการตรวจวิเคราะห์ดังกล่าว และศาลอุทธรณ์ภาค 9 นำข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามรายงานการตรวจวิเคราะห์ดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานในการวินิจฉัยคดี จึงไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.วิธีดำเนินการควบคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา ฯ ดังกล่าว เพราะมิใช่เป็นการนำข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงานสืบเสาะและพินิจจำเลยมาเป็นพยานหลักฐานในการวินิจฉัยคดี
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 ที่ว่า ในชั้นพิจารณาถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้นั้น มิได้หมายความว่าเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพแล้ว ศาลจะต้องพิพากษาลงโทษจำเลยเสมอไป ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำความผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 หรือหากศาลเห็นสมควรให้มีการสืบพยานหลักฐานก่อนมีคำพิพากษา ก็เป็นอำนาจของศาลที่จะมีคำสั่งให้กระทำได้ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีข้อสงสัยว่าของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือประเภท 3 จึงมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นสืบพยานเพิ่มเติมในประเด็นที่ว่าของกลางเป็นยาแก้ไอที่มีส่วนผสมของโคเดอีนหรือไม่ ก็เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่จะกระทำได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (1)
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีโคเดอีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 จำนวน 4 ขวด ปริมาตร 400 มิลลิลิตร น้ำหนักไม่ปรากฏชัด ซึ่งไม่อาจแยกชั่งน้ำหนักโคเดอีนได้ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ตามรายงานการตรวจวิเคราะห์ของกลางระบุว่าของกลางเป็นของเหลวข้นหนืดสีน้ำตาลผลการตรวจวิเคราะห์พบโคเดอีนและโพรเมทาซีนในของกลาง และมีหมายเหตุไว้ในข้อ 3 ว่า “โดยทั่วไปยาแก้ไอผสมโคเดอีนที่ขึ้นทะเบียนตำรับเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 3 จะมีส่วนประกอบคือ ใน 5 มิลลิลิตรจะประกอบด้วยโคเดอีนฟอสเฟต 9 มิลลิกรัม และโพรเมทาซีนไฮโดรคลอไรด์ 3.6 มิลลิกรัม ซึ่งเทียบเท่ากับโคเดอีนประมาณ 7 มิลลิกรัม และเทียบเท่ากับโพรเมทาซีนประมาณ 3 มิลลิกรัม” แสดงว่า ของกลางเป็นยาแก้ไอที่มีสูตรของสิ่งปรุงตามคำจำกัดความของตำรับยาในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ฯ และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 95 (พ.ศ.2531) ซึ่งกำหนดให้ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นตำรับยาและมียาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ตามที่กำหนดผสมอยู่ด้วยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศดังกล่าว และได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษตามมาตรา 43 แล้วเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 เมื่อของกลางตามผลการตรวจวิเคราะห์เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 แต่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมียาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นสืบพยานเพิ่มเติม โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ว่าของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ตามฟ้อง เมื่อโจทก์อ้างส่งแต่เพียงรายงานการตรวจวิเคราะห์ดังกล่าว ซึ่งระบุว่าของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ซึ่งขณะเกิดเหตุการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายไม่มีความผิดตามกฎหมาย ดังนั้น แม้ว่าจำเลยจะให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 17, 69
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 9 นำข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติมาพิจารณาและวินิจฉัยคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อพนักงานคุมประพฤติส่งรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยให้แก่ศาลแล้ว ศาลมีอำนาจที่จะนำข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงานดังกล่าวมาประกอบการใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2522 มาตรา 13 เท่านั้น โดยจะนำมารับฟังในฐานะเป็นพยานหลักฐานเพื่อวินิจฉัยการกระทำที่ถูกฟ้องด้วยหาได้ไม่ เมื่อปรากฏตามสำนวนว่าศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณารายงานการสืบเสาะและพินิจแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงไม่แน่ชัดว่าของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือประเภท 3 จึงมีคำสั่งตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 20 สิงหาคม 2545 ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานเพิ่มเติมในประเด็นที่ว่าของกลางเป็นยาแก้ไอที่มีส่วนผสมของโคเดอีนหรือไม่ ต่อมาศาลชั้นต้นนัดพร้อมโจทก์และจำเลย โจทก์อ้างส่งรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ยาเสพติดของกลางเอกสารหมาย จ. 1 ต่อศาล โดยคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงและไม่คัดค้านผลการตรวจวิเคราะห์ดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงนำข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามเอกสารหมาย จ. 1 มาเป็นพยานหลักฐานในการวินิจฉัยคดี หาได้นำข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยมาเป็นพยานหลักฐานและวินิจฉัยคดีดังที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใดไม่ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า โจทก์มีภาระการพิสูจน์ว่าของกลางในคดีนี้เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าโคเดอีนในของกลางที่ผสมรวมกับโพรเมทาซีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 และเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงรับฟังได้ว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 บัญญัติว่า “ในชั้นพิจารณาถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ …” ที่ว่าถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องให้ศาลพิพากษาไปได้โดยไม่ต้องสืบพยานนั้น มิได้หมายความว่าเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพแล้ว จะต้องพิพากษาลงโทษจำเลยเสมอไป ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 หรือหากศาลเห็นว่าสมควรให้มีการสืบพยานหลักฐานก่อนมีคำพิพากษาก็เป็นอำนาจของศาลที่จะมีคำสั่งให้กระทำได้ ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีข้อสงสัยว่าของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือประเภท 3 จึงมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นสืบพยานเพิ่มเติมในประเด็นที่ว่าของกลางเป็นยาแก้ไอที่มีส่วนผสมของโคเดอีนหรือไม่ ก็เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่จะกระทำได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (1) แต่ในวันนัดพร้อมของศาลชั้นต้นคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงและไม่คัคค้านผลการตรวจวิเคราะห์ตามเอกสารหมาย จ. 1 ทั้งโจทก์มิได้แถลงขอสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติมอีก ถือได้ว่าโจทก์ติดใจอ้างส่งแต่เพียงเอกสารหมาย จ. 1 เท่านั้น
เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีโคเดอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 จำนวน 4 ขวด ปริมาตร 400 มิลลิลิตร น้ำหนักไม่ปรากฏชัด ซึ่งไม่อาจแยกชั่งหาน้ำหนักโคเดอีนได้ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ตามรายงานผลการตรวจวิเคราะห์เอกสารหมาย จ. 1 ระบุผลการตรวจวิเคราะห์ว่า ของกลางเป็นของเหลวข้นหนืดสีน้ำตาล ผลการตรวจวิเคราะห์พบโคเดอีนและโพรเมทาซีนในของกลาง และมีหมายเหตุไว้ในข้อ 3 ว่าโดยทั่วไปยาแก้ไอผสมโคเดอีนที่ขึ้นทะเบียนตำรับเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 3 จะมีส่วนประกอบคือ ใน 5 มิลลิลิตร จะประกอบด้วยโคเดอีนฟอสเฟต 9.0 มิลลิกรัม และโพรเมทาซีนไฮโดรคลอไรด์ 3.6 มิลลิกรัม ซึ่งเทียบเท่ากับโคเดอีนประมาณ 0.007 กรัม (เจ็ดมิลลิกรัม) และเทียบเท่ากับโพรเมทาซีนประมาณ 0.003 กรัม (สามมิลลิกรัม) แสดงว่าของกลางเป็นยาแก้ไอที่มีสูตรของสิ่งปรุงตามคำจำกัดความของตำรับยาในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 95 (พ.ศ.2531) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ว่า “ให้ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นตำรับยาและมียาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ใด ๆ ต่อไปนี้ผสมอยู่ด้วยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ และที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษตามมาตรา 43 แล้ว เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 3
ตำรับยาที่มียาเสพติดให้โทษใด ๆ ต่อไปนี้เป็นสารสำคัญผสมอยู่กับโอสถสารอื่น ๆ อีกตั้งแต่หนึ่งอย่างขึ้นไป โดยมีส่วนผสมของสารสำคัญไม่เกินอัตราส่วนร้อยละ 2.5 ของส่วนผสมทั้งหมดในตำรับ และมีสารสำคัญอยู่ในขนาดยาที่จะใช้แต่ละหน่วย (dosage unit) ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม คือ …โคเดอีน (Codeine) …” ของกลางตามผลการตรวจวิเคราะห์เอกสารหมาย จ. 1 ในหมายเหตุข้อ 3 จึงเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 เมื่อโจทก์ฟ้องว่า จำเลยมียาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นสืบพยานเพิ่มเติม โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ว่า ของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ตามที่โจทก์ฟ้อง เมื่อโจทก์อ้างส่งแต่เพียงรายงานผลการตรวจวิเคราะห์เอกสารหมาย จ. 1 ซึ่งระบุว่าของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ซึ่งขณะเกิดเหตุการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายไม่มีความผิดตามกฎหมาย ดังนั้น แม้ว่าจำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.