คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 823/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ในปี 2539 โจทก์มีตำแหน่งเป็นช่างอิเล็กทรอนิคการบินสอง โจทก์ถูกลงโทษทางวินัยให้ตัดเงินเดือนร้อยละ 10 เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2539 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2540 แต่เนื่องจากความบกพร่องในการปฏิบัติงานภายในของจำเลย จำเลยได้มีคำสั่งเลื่อนเงินเดือนให้แก่โจทก์ในปี 2540 และส่งผลให้ฐานเงินเดือนในการเลื่อนเงินเดือนในปีงบประมาณ 2541 คลาดเคลื่อนคำสั่งเลื่อนเงินเดือนให้แก่โจทก์จึงคลาดเคลื่อนไปด้วย เงินที่โจทก์ได้รับมาจากจำเลยโดยคำสั่งที่ไม่ชอบ จึงเป็นการได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จึงเป็นลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 วรรคแรก โจทก์ต้องคืนให้แก่จำเลย แต่จำเลยทราบถึงความบกพร่องในการเลื่อนเงินเดือนเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2541 จำเลยฟ้องแย้งวันที่ 26 กรกฎาคม 2544 พ้นกำหนด 1 ปีนับแต่เวลาที่จำเลยรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกเงินคืนตามมาตรา 419 ฟ้องแย้งของจำเลยจึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เคยเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2537 เงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ 21,620 บาท ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2539 และในวันที่ 10 มีนาคม 2541 จำเลยมีคำสั่งที่ 176/2539 และ 19/2541 ขึ้นเงินเดือนให้แก่โจทก์ แต่ต่อมาจำเลยมีคำสั่งที่ 28/2542, 34/2542 และ 42/2542 แก้ไขการเลื่อนขั้นเงินเดือนของโจทก์โดยมิชอบ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเสียสิทธิที่จะได้รับเงินเดือนย้อนหลัง กับเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนของโจทก์จากฐานอัตราเงินเดือนที่จำเลยได้ทำการปรับลดลงนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2539 ถึง 6 กรกฎาคม 2543 เป็นเงิน 52,488.30 บาท และ 4,723.95 บาท ตามลำดับ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าเสียหายเนื่องจากการที่จำเลยจ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ถูกต้องแก่โจทก์เป็นเงิน 4,723.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี กับค่าจ้าง 52,488.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ในปี 2539 ขณะโจทก์ได้รับเงินเดือนอัตรา 16,950 บาท โจทก์ถูกลงโทษทางวินัยตัดเงินเดือนจำนวนร้อยละ 10 เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2539 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2540 ตามคำสั่งที่ 156/2539 เมื่อโจทก์ถูกตัดเงินเดือนตามระเบียบของจำเลยเกี่ยวกับการพิจารณาบำเหน็จประจำปีข้อ 9 (8) โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับการพิจารณาบำเหน็จประจำปี แต่จำเลยมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนจึงได้เลื่อนขั้นเงินเดือนให้โจทก์ในปีงบประมาณ 2550 จากเงินเดือน 16,950 บาท เป็นเงิน 17,990 บาท ตามคำสั่งที่ 176/2539 และปีงบประมาณ 2541 จากเงินเดือน 17,990 บาท เป็น 19,110 บาท ตามคำสั่งที่ 19/2541 ต่อมาจำเลยตรวจพบความคลาดเคลื่อนในการขึ้นเงินเดือนของโจทก์ จึงมีคำสั่งที่ 28/2542 แก้ไขคำสั่งที่ 176/2539 เปลี่ยนจากอัตราเงินเดือน 17,990 บาท เหลือ 16,950 บาท มีคำสั่งที่ 34/2542 แก้ไขคำสั่งที่ 19/2541 เปลี่ยนจากอัตราเงินเดือน 19,110 บาท เหลือ 17,990 บาท เป็น 18,550 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2541 เป็นต้นไป อัตราเงินเดือนสุดท้ายของโจทก์จึงเป็นเดือนละ 18,550 บาท เมื่ออัตราเงินเดือนลดลงการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งกำหนดเป็นร้อยละ จึงย่อมลดตามอัตราส่วนไปด้วย จำเลยมิได้ทำความเสียหายแก่โจทก์ เมื่อฐานเงินเดือนของโจทก์สูงเกินจริง โจทก์จึงได้รับเงินเดือนส่วนเกินเป็นเงิน 29,280 บาท ค่าล่วงเวลา 537 บาท รวมเป็นเงิน 29,817 บาท แต่ช่วงที่โจทก์ถูกลงโทษทางวินัยให้ตัดเงินเดือนร้อยละ 10 ต่อเดือนนั้น จำเลยหักเกินไป 520 บาท เมื่อหักออกแล้วคงเหลือเงินที่โจทก์จะต้องคืนจำเลย 29,297 บาท จำเลยทวงถามแล้วแต่โจทก์เพิกเฉย ขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์คืนเงิน 29,297 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เมื่อคำสั่งที่แก้ไขการขึ้นเงินเดือนไม่ถูกต้องโจทก์จึงมีเงินเดือนสุดท้ายเดือนละ 21,620 บาท จำเลยไม่มีสิทธิเรียกเงิน 29,297 บาท คืนจากโจทก์เพราะขาดอายุความลาภมิควรได้ 1 ปี โจทก์รับเงินดังกล่าวไว้โดยสุจริตได้นำไปใช้จ่ายหมดสิ้นแล้ว ทั้งไม่มีดอกผลเกิดจากเงินดังกล่าว จำเลยนำโทษตัดเงินเดือนซึ่งเป็นโทษเก่ามากล่าวหาโจทก์ซ้ำซ้อนซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว และจำเลยได้จ่ายค่าจ้างโจทก์ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน หลังจากมีคำพิพากษาถึงที่สุดย่อมต้องถือว่าถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งโจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์และให้โจทก์คืนเงิน 29,297 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2544 อันเป็นวันฟ้องแย้งไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ในปี 2539 โจทก์มีตำแหน่งเป็นช่างอิเล็กทรอนิคการบินสอง อัตราเงินเดือน 16,950 บาท แต่โจทก์ถูกลงโทษทางวินัยให้ตัดเงินเดือน ร้อยละ 10 เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2539 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2540 แต่เนื่องจากความบกพร่องในการปฏิบัติงานภายในของจำเลย จำเลยได้มีคำสั่งเลื่อนเงินเดือนให้แก่โจทก์ในปี 2540 ตามคำสั่งที่ 176/2539 และส่งผลให้ฐานเงินเดือนในการเลื่อนเงินเดือนในปีงบประมาณ 2541 คลาดเคลื่อนทำให้คำสั่งเลื่อนเงินเดือนให้แก่โจทก์ตามคำสั่งที่ 19/2541 คลาดเคลื่อนตามไปด้วย และวินิจฉัยว่าคำสั่งเลื่อนเงินเดือนที่ 176/2539 และ 19/2541 ให้แก่โจทก์เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ โจทก์ไม่อาจอาศัยคำสั่งดังกล่าวเรียกร้องเงินใด ๆ ได้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าเงินค่าจ้างที่โจทก์ได้รับเกินไปตามคำสั่งที่ 176/2539 และ 19/2541 เป็นลาภมิควรได้หรือไม่ และฟ้องแย้งของจำเลยขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า เงินจำนวน 29,297 บาท ที่โจทก์ได้รับเกินไปตามคำสั่งที่ 176/2539 และ 19/2541 นั้น เป็นเงินที่โจทก์ได้รับมาจากจำเลยโดยคำสั่งที่ไม่ชอบ จึงเป็นการได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นผลให้จำเลยเสียเปรียบจึงเป็นลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 วรรคแรก โจทก์ต้องคืนให้แก่จำเลย แต่เมื่อได้ความว่าจำเลยทราบถึงความบกพร่องในการเลื่อนเงินเดือนเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2541 จำเลยฟ้องแย้งวันที่ 26 กรกฎาคม 2544 เป็นการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่เวลาที่จำเลยรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกเงินคืนตามมาตรา 419 ฟ้องแย้งของจำเลยจึงขาดอายุความแล้ว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share