คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1511/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานใช้รถที่จดทะเบียนแล้วแต่ยังมิได้เสียภาษีประจำปี การที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง, 59 จึงไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องเป็นมาตรา 6 วรรคสอง, 60 แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษฐานใช้รถที่ยังมิได้จดทะเบียนตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 59 แต่บทมาตราที่ถูกต้องเป็นมาตรา 60 จึงเป็นเพียงแต่โจทก์อ้างบทมาตราผิดไป ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยตามบทมาตราที่ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2543 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน กงจ นครนายก 302 ที่มีไว้เพื่อใช้ไม่จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยจากรถ จำเลยใช้รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวขับไปในทางเดินรถถนนสุวรรณศร โดยรถคันดังกล่าวได้จดทะเบียนแล้วแต่ยังไม่ได้เสียภาษีประจำปีให้ถูกต้องครบถ้วน ไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยจากรถ และจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถจากนายทะเบียนตามกฎหมาย จำเลยซึ่งดื่มสุรามาก่อนได้ขับรถคันดังกล่าวไปตามถนนสุวรรณศรจากอำเภอปากพลีมุ่งหน้าอำเภอเมืองนครนายกด้วยความเร็วสูง เมื่อถึงที่เกิดเหตุบริเวณหน้าสถานีบริการน้ำมัน ส.กอบเกียรติ ซึ่งเป็นที่มืดไม่มีแสงสว่างเพียงพอจำเลยควรใช้ความระมัดระวังชะลอความเร็วของรถให้ช้าลง หากมีรถคันอื่นวิ่งอยู่ข้างหน้าจะได้หยุดหรือหลบได้ทัน แต่จำเลยหาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ กลับขับรถด้วยความเร็วสูงพุ่งชนรถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนที่มีนายมาโนช แสงศิริ เป็นผู้ขับและแล่นอยู่ในช่องเดินรถเดียวกับรถของจำเลยอย่างแรงทำให้รถคันดังกล่าวล้มลงได้รับความเสียหาย และเป็นเหตุให้นายมาโนชถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 291 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 6, 42, 59, 64 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 4, 7, 11, 37, 39
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นเจ้าของรถไม่จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยจากรถ ใช้รถที่ยังไม่เสียภาษีประจำปี และใช้รถที่ยังไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยจากรถ ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสุนันท์ แสงศิริ มารดาผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง, 42, 59, 64 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 7, 11, 37, 39 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานใช้รถที่ยังไม่เสียภาษีประจำปี ปรับ 1,000 บาท ฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ ปรับ 600 บาท ฐานเป็นเจ้าของรถที่มีไว้เพื่อใช้ไม่จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยจากรถ ปรับ 2,000 บาท ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ความผิดฐานใช้รถที่ยังไม่เสียภาษีประจำปี ฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ ฐานเป็นเจ้าของรถที่มีไว้เพื่อใช้ไม่จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยจากรถ และฐานใช้รถที่ยังไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยจากรถ จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานใช้รถที่ยังไม่เสียภาษีประจำปี ปรับ 500 บาท ฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ ปรับ 300 บาท ฐานเป็นเจ้าของรถที่มีไว้เพื่อใช้ไม่จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยจากรถ ปรับ 1,000 บาท ฐานใช้รถที่ยังไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยจากรถ ปรับ 1,000 บาท รวมจำคุก 1 ปี และปรับ 2,800 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานใช้รถที่จดทะเบียนแล้ว แต่ยังมิได้เสียภาษีประจำปี แต่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง, 59 มานั้นไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องเป็นมาตรา 6 วรรคสอง, 60 แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษฐานใช้รถที่ยังมิได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 59 ก็ตามแต่บทมาตราที่ถูกต้องเป็นมาตรา 60 จึงเป็นเพียงแต่โจทก์อ้างบทมาตราผิดไป ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยตามบทมาตราที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า และที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 โดยไม่ระบุวรรคนั้นไม่ถูกต้อง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ในความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 จำเลยมีความผิดตามมาตรา 6 วรรคสอง, 42 วรรคหนึ่ง, 60, 64 ในความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 จำเลยมีความผิดตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง, 11, 37, 39 ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2.

Share