คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3973/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ป.วิ.อ. มาตรา 50 บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สินหรือใช้ราคาแก่ผู้เสียหายตามมาตรา 43 และ 44 ให้ถือว่าผู้เสียหายนั้นเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น ผู้เสียหายที่จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตราดังกล่าวจะต้องเป็นผู้เสียหายเฉพาะในความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 เท่านั้น กรมชลประทานผู้ร้องเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานรุกล้ำคลองชลประทานตาม พ.ร.บ.การชลประทานหลวง พ.ศ.2485 อันมิใช่ความผิดตามที่ระบุไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 43 ไม่ต้องด้วยมาตรา 50 จึงไม่มีอำนาจขอเข้าดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีเพื่อให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำตามคำพิพากษา

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติชลประทานหลวง พ.ศ.2485 มาตรา 23 (ที่ถูกมาตรา 23 วรรคหนึ่ง), 37 (ที่ถูกมาตรา 37 วรรคหนึ่ง) และให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำ
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดี ศาลชั้นต้นอนุญาต ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเดิมโดยให้ยกคำร้องขอเข้าดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องมีว่า ผู้ร้องมีอำนาจขอเข้าดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีหรือไม่ ผู้ร้องฎีกาว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 50 นั้น ผู้เสียหายจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ มี 2 กรณี คือ 1. ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สิน หรือ 2. ใช้ราคาแก่ผู้เสียหายตามมาตรา 43 และ 44 กรณีของผู้ร้องอยู่ในหลักเกณฑ์ข้อแรก คือ เมื่อผู้ร้องต้องการครอบครองที่ดินหรือใช้สิทธิ ถือว่าเป็นการคืนสิทธิการครอบครองหรือเป็นการคืนทรัพย์สินนั้นเอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิเข้าบังคับคดีในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 50 บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สินหรือใช้ราคาแก่ผู้เสียหายตามมาตรา 43 และ 44 ให้ถือว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น ผู้เสียหายที่จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตราดังกล่าวจะต้องเป็นผู้เสียหายเฉพาะในความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 เท่านั้นอันได้แก่ คดีลักทรัพย์ วิ่งราว ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอก หรือรับของโจร แต่คดีนี้ปรากฏว่าผู้ร้องเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานรุกล้ำคลองชลประทานตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ.2485 อันมิใช่ความผิดตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 แต่อย่างใด กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 50 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจขอเข้าดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share