คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4206/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 46 ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ผู้รับตราส่งหรือผู้ส่งของฟ้องให้ผู้ขนส่งรับผิดในค่าเสียหายเพื่อความสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้าแห่งของที่รับขนตามสัญญารับขนของทางทะเลเท่านั้น
โจทก์ฟ้องว่าจ้างจำเลยดำเนินการจัดส่งสินค้าของโจทก์ไปให้ลูกค้าของโจทก์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยจำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์ ให้จำเลยรับผิดเพราะจัดส่งเอกสารไปให้แก่ลูกค้าที่ปลายทางตามข้อตกลงล่าช้า ทำให้ลูกค้าไม่ยอมรับสินค้าเท่านั้น โจทก์ไม่ได้อ้างว่าจำเลยเป็นผู้ขนส่งของทางทะเลและให้จำเลยรับผิดเพราะเหตุการสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้าแห่งสินค้าที่รับขนเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยตามมาตรา 39 ของ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ที่จะนำบทบัญญัติมาตรา 46 มาใช้บังคับได้ แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติเรื่องอายุความในกรณีนี้ไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติเรื่องความรับผิดของตัวแทนต่อตัวการตาม ป.พ.พ. มาใช้บังคับ แต่ ป.พ.พ. บรรพ 1 ลักษณะ 6 หมวด 2 ว่าด้วยอายุความก็มิได้มีบัญญัติเรื่องอายุความในกรณีนี้โดยเฉพาะอีกเช่นกัน จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ทราบในวันที่ 8 ธันวาคม 2544 ว่าจำเลยกระทำผิดข้อตกลงทำให้ลูกค้าไม่สามารถรับสินค้าได้ทันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย จึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ และนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2544 โจทก์จ้างจำเลยเป็นตัวแทนดำเนินการจัดส่งสับปะรดให้แก่ลูกค้าของโจทก์ทางเรือ ณ เมืองดามัม ประเทศซาอุดิอาระเบีย 1 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยมีข้อตกลงว่าจำเลยมีหน้าที่เป็นตัวแทนของโจทก์ทุกขั้นตอนในการขนส่งสินค้า อาทิเช่น การจ้างเรือขนส่งสินค้า ดำเนินพิธีการทางศุลกากร ตลอดจนการจัดทำและส่งเอกสารให้แก่ลูกค้าของโจทก์เพื่อลูกค้าจะได้นำเอกสารไปติดต่อรับสินค้า ตกลงค่าว่าจ้างเป็นเงิน 174,864.52 บาท กำหนดให้สินค้าออกจากกรุงเทพมหานครวันที่ 19 พฤศจิกายน 2544 ถึงปลายทางวันที่ 5 ธันวาคม 2544 และโจทก์จะชำระค่าว่าจ้างให้แก่จำเลยภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ลูกค้าได้รับสินค้า ต่อมาหลังจากจำเลยจัดส่งสินค้าถึงปลายทาง โจทก์ได้สั่งจ่ายเช็คเป็นค่าจ้างให้จำเลย แต่จำเลยไม่ส่งเอกสารให้ถึงลูกค้าของโจทก์ก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2544 อันเป็นวันที่สินค้าถึงปลายทางตามข้อตกลง เมื่อลูกค้าของโจทก์ไม่ได้รับเอกสารการขนส่งสินค้าจากจำเลย ทำให้ลูกค้าของโจทก์ไม่ยอมรับสินค้าเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขาดรายได้จากสินค้าที่จัดส่งอันได้แก่สับปะรด จำนวน 1,883 กล่อง ราคากล่องละ 5 ดอลลาร์สหรัฐ อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 44.58 บาท รวมเป็นราคาสินค้า 419,720.70 บาท จำเลยในฐานะตัวแทนต้องรับผิดชำระเงินค่าสินค้าดังกล่าวต่อโจทก์ในฐานะตัวการ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 439,729.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 419,720.70 บาท จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เนื่องจากโจทก์รับทราบถึงสินค้าที่ส่งไปให้ลูกค้าของโจทก์ปลายทางพร้อมเอกสารใบตราส่งตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2544 แต่โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2546 จึงเลยระยะเวลา 1 ปี ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 46 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นตามที่โจทก์จำเลยไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2544 โจทก์ว่าจ้างจำเลยดำเนินการจัดส่งสินค้าของโจทก์ คือ สับปะรดสด จำนวน 1,883 กล่อง 1 ตู้คอนเทนเนอร์ จากท่าเรือกรุงเทพให้แก่ลูกค้าของโจทก์ ณ ท่าเรือเมืองดามัม ประเทศซาอุดิอาระเบีย จากนั้นจำเลยยืนยันว่าได้มีการจองเรือโดยเรือจะออกจากท่าต้นทางในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2544 และถึงท่าปลายทางในวันที่ 5 ธันวาคม 2544 ตามเอกสารหมาย จ. 6 ต่อมาจำเลยส่งตู้คอนเทนเนอร์มาบรรจุสับปะรดที่โรงงานของโจทก์และแจ้งค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้โจทก์ทราบ ตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ. 7 พร้อมคำแปล ในวันที่ 7 ธันวาคม 2544 เรือได้ขนสินค้าถึงท่าเรือเมืองดามัม และในวันที่ 8 เดือนเดียวกัน เวลากลางคืน ลูกค้าของโจทก์ได้รับเอกสารต่าง ๆ ที่ใช้ในการรับสินค้าโดยจำเลยเป็นผู้จัดส่งไป แต่จากนั้นลูกค้าของโจทก์ไม่ได้นำเอกสารดังกล่าวไปขอรับสินค้าอ้างว่าช่วงเวลาหลังจากวันที่ 8 ธันวาคม 2544 ในประเทศซาอุดิอาระเบียตรงกับประเพณีทางศาสนาเป็นวันหยุดทำงานติดต่อกันประมาณ 1 สัปดาห์ ลูกค้าของโจทก์ไม่ได้ไปรับสินค้า ต่อมาในวันที่ 27 เดือนเดียวกัน ลูกค้าของโจทก์ได้รับสินค้าและนำไปทำลายแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้ขนส่งและลูกค้าของโจทก์ได้ไปรับสินค้าเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2544 โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2546 จึงพ้นระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยส่งมอบของ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 46 เห็นว่า ตามมาตรา 46 ดังที่บัญญัติไว้มีความว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเพื่อความสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้าแห่งของที่รับขนตามสัญญารับขนของทางทะเล ถ้าไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบของให้เป็นอันขาดอายุความ กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ผู้รับตราส่งหรือผู้ส่งของฟ้องให้ผู้ขนส่งรับผิดในค่าเสียหายเพื่อความสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้า แห่งของที่รับขนตามสัญญารับขนของทางทะเลเท่านั้น แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบ และจำเลยให้การ กับนายสวัสดิ์หรือนายศิวัช ยี่สุ้นแสง ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ นายชาญชัย ปิยวัชรวิจิตร ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยตอบคำถามค้าน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ว่าจ้างจำเลยดำเนินการจัดส่งสินค้าของโจทก์ไปให้ลูกค้าของโจทก์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยโจทก์ฟ้องอ้างเหตุว่าจำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์ ให้จำเลยรับผิดเพราะจัดส่งเอกสารไปให้แก่ลูกค้าของโจทก์ที่ปลายทางตามข้อตกลงล่าช้า ทำให้ลูกค้าของโจทก์ไม่ยอมรับสินค้าเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเท่านั้น โจทก์ไม่ได้อ้างว่าจำเลยเป็นผู้ขนส่งของทางทะเล และให้จำเลยรับผิดเพราะเหตุการสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้าแห่งสินค้าที่รับขนเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยในฐานะเป็นผู้ขนส่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 39 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวที่จะนำบทบัญญัติมาตรา 46 มาใช้บังคับได้แต่อย่างใด แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มิได้บัญญัติเรื่องอายุความในกรณีนี้ไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติเรื่องความรับผิดของตัวแทนต่อตัวการเพราะไม่ทำการเป็นตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 6 หมวด 2 ว่าด้วยอายุความก็มิได้มีบัญญัติเรื่องอายุความในกรณีนี้โดยเฉพาะอีกเช่นกัน จึงต้องถือว่ากรณีนี้มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์อ้างว่าโจทก์ทราบในวันที่ 8 ธันวาคม 2544 ว่าจำเลยกระทำผิดข้อตกลงทำให้ลูกค้าของโจทก์ไม่สามารถรับสินค้าได้ทันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย จึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ และนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น และเพื่อให้คดีเสร็จไปโดยไม่ล่าช้าจึงเห็นสมควรวินิจฉัยในประเด็นที่ว่าจำเลยผิดสัญญาและต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังไม่ได้วินิจฉัย เห็นว่า… ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาดังโจทก์อ้าง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share