คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5210/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่กำหนดให้บริษัทสมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดำเนินการบังคับขายหลักทรัพย์ที่ผู้กู้ยืมหรือลูกค้าวางเป็นประกันไว้ในวันทำการถัดจากวันที่อัตราส่วนระหว่างมูลค่าของหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันรวมกับทรัพย์สินที่วางเป็นประกันหักด้วยหนี้ต่อมูลค่าของหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันเท่ากับหรือต่ำกว่าร้อยละ 15 ได้ออกโดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกโดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นกรรมการไม่ดำเนินการบังคับขายหลักทรัพย์ในกรณีดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยฝ่าฝืนต่อประกาศนั้นย่อมเกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ผู้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ทันทีนับแต่วันที่จำเลยทั้งหกฝ่าฝืน อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353, 354 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ทราบเรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิดในวันที่ 17 ตุลาคม 2539 แต่ไม่ได้ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายใน 3 เดือน นับแต่วันดังกล่าว จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96
อัตราส่วนระหว่างมูลค่าของหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันรวมกับทรัพย์สินที่วางเป็นประกันหักด้วยหนี้ต่อมูลค่าหลักทรัพย์ของโจทก์ที่วางเป็นประกันลดลงเท่ากับร้อยละ 7.0511 ต่ำกว่าร้อยละ 15 ในวันที่ 16 ตุลาคม 2539 ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกจะต้องดำเนินการบังคับขายหลักทรัพย์ของโจกท์ผู้เป็นลูกค้าในวันทำการถัดจากวันดังกล่าวตามประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขายหลักทรัพย์ของโจทก์ในวันถัดไป โดยจำเลยที่ 1 มีหนังสือฉบับลงวันที่ 17 ตุลาคม 2539 แจ้งโจทก์ให้ชำระเงินหรือนำตั๋วเงินหรือทรัพย์สินอื่นตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดมาประกันเพิ่มเติม แต่โจทก์มิได้วางประกันเพิ่มเติม ทั้งมิได้สั่งให้จำเลยที่ 1 ขายหลักทรัพย์ และในระหว่างนั้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้บริษัทสมาชิกใช้ดุลพินิจผ่อนปรนการบังคับขายหลักทรัพย์ของลูกค้าได้ ต่อมาวันที่ 11 ถึง 20 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยที่ 1 ได้ขายหลักทรัพย์ของโจทก์ไปโดยโจทก์ไม่ได้สั่งให้ขาย โจทก์จึงไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2540 แสดงว่าโจทก์สมัครใจให้จำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนไม่ดำเนินการบังคับขายหลักทรัพย์ของโจทก์ในวันถัดจากวันที่อัตราส่วนดังกล่าวลดลงต่ำกว่าร้อยละ 15 ต่อมาจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 กรรมการได้ขายหลักทรัพย์ของโจทก์ไป แม้ในขณะที่ขายหลักทรัพย์จะมีอัตราส่วนดังกล่าวลดลงอยู่ที่ร้อยละ 20 ก็เป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าการขายหลักทรัพย์ของโจทก์เป็นผลมาจากผิดนัดผิดสัญญาไม่ชำระเงินหรือหาหลักประกันมาวางเพิ่มเติมตามสัญญาตัวแทนนายหน้าและบัญชีเดินสะพัดระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ โดยไม่ได้ความว่าการขายหลักทรัพย์ของโจทก์นั้น จำเลยทั้งหกได้รับประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือได้กระทำการโดยทุจริต จึงมิใช่กรณีการเอาไปเสีย ทำให้เสียหายทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินของโจทก์ อันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลมีหน้าที่ดูแลหรือที่อยู่ในความครอบครองของนิติบุคคลนั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จึงไม่มีความผิดตามมาตรา 309 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นกรรมการ กรรมการสองในห้าร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญกระทำแทนจำเลยที่ 1 ได้ โจทก์เป็นลูกค้าเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์และแต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประเภทวงเงินกู้ยืมเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์โดยมีหลักทรัพย์ที่สั่งซื้อเป็นประกัน การซื้อขายหลักทรัพย์โจทก์จะต้องชำระราคาร้อยละ 40 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 60 จำเลยที่ 1 จะออกเงินทดรองแทนโจทก์และถือว่าเงินดังกล่าวโจทก์ได้กู้ยืมเงินไปจากจำเลยที่ 1 เมื่อประมาณต้นปี 2538 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ประกาศหลักเกณฑ์กำหนดให้บริษัทสมาชิกหรือบริษัทหลักทรัพย์ที่ให้กู้ยืมเงินแก่ลูกค้าเพื่อซื้อหลักทรัพย์ดำเนินการบังคับขายหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกัน เมื่อมีอัตราส่วนระหว่างมูลค่าหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันรวมกับทรัพย์สินที่วางเป็นประกัน หักด้วยหนี้ต่อมูลค่าของหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันเท่ากับหรือต่ำกว่าร้อยละ 15 ในวันถัดจากวันที่มูลค่าลดลงในอัตราส่วนดังกล่าว ระหว่างวันที่ 8 ตุลาคม 2539 ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยทั้งหกร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ วันที่ 8 ตุลาคม 2539 โจทก์มีหลักทรัพย์เป็นหุ้นของบริษัทต่าง ๆ วางเป็นประกันไว้กับจำเลยที่ 1 และอัตราส่วนของมูลค่าหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันดังกล่าวลดลงเท่ากับร้อยละ 11.95 และวันที่ 17 ตุลาคม 2539 จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของโจทก์ ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2539 อัตราส่วนของมูลค่าหลักทรัพย์ที่วางประกันทั้งหมดลดลงเท่ากับร้อยละ 7.0511 ซึ่งจำเลยทั้งหกจะต้องบังคับขายหลักทรัพย์ดังกล่าวตามข้อบังคับและประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่จำเลยทั้งหกมิได้บังคับขายหลักทรัพย์ดังกล่าวของโจทก์ซึ่งถ้าหากบังคับขายตามประกาศดังกล่าวเมื่อหักชำระหนี้แล้วโจทก์จะไม่เป็นหนี้จำเลยที่ 1 และจะมีเงินเหลือโจทก์จำนวน 7,286,998.40 บาท จำเลยที่ 1 โดยการสั่งการของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เพิ่งบังคับขายหลักทรัพย์ของโจทก์ระหว่างวันที่ 11 ถึง 20 กุมภาพันธ์ 2540 เมื่ออัตราส่วนของมูลค่าหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันทั้งหมดลดลงเหลือติดลบทำให้โจทก์กลับเป็นหนี้จำเลยที่ 1 จำนวน 24,181,762.40 บาท โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 31,468,750.44 บาท การกระทำของจำเลยที่ 1 ซึ่งประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อันเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนแต่มิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด กลับนำหลักทรัพย์ของโจทก์ไปขายโดยเก็งกำไรในการซื้อขายเพื่อผลประโยชน์ของตนเป็นการกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 รับผิดชอบในการดำเนินงานของจำเลยที่ 1 ได้เอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย หรือทำให้เสื่อมค่าหรือไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์สินอันจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลและอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดเกิดจากการสั่งการ การกระทำหรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำการของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ทั้งยังร่วมกันเป็นผู้มีวิชาชีพหรือธุรกิจอันเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของบุคคลอื่น กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใด ๆ โดยทุจริต เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 113, 114, 282, 283, 309 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353, 354, 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าฟ้องโจทก์มีมูลหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353, 354 ไม่ขาดอายุความเพราะในวันที่ 17 ตุลาคม 2539 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 มิได้บังคับขายหลักทรัพย์ของโจทก์อันเป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโจทก์ยังไม่ได้รับความเสียหาย ถือไม่ได้ว่าการกระทำความผิดเกิดขึ้น อายุความจึงไม่ได้เริ่มนับจากวันดังกล่าวนั้น เห็นว่า ประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่กำหนดให้บริษัทสมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยดำเนินการบังคับขายหลักทรัพย์ที่ผู้กู้ยืมหรือลูกค้าวางเป็นประกันไว้ในวันทำการถัดจากวันที่อัตราส่วนระหว่างมูลค่าของหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันรวมกับทรัพย์สินที่วางเป็นประกันหักด้วยหนี้ต่อมูลค่าของหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันเท่ากับหรือต่ำกว่าร้อยละ 15 ตามเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.8 ได้ออกโดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกและผู้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือลูกค้าโดยรวม เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกโดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นกรรมการไม่ดำเนินการบังคับขายหลักทรัพย์ในกรณีดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยฝ่าฝืนต่อประกาศนั้นขึ้นแล้ว ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นการกระทำหน้าที่โดยทุจริตของจำเลยทั้งหกผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของโจทก์อันเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว การกระทำนั้นย่อมเกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ผู้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ทันทีนับแต่วันที่จำเลยทั้งหกฝ่าฝืน ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353, 354 เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าวทราบเรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิดในวันที่ 17 ตุลาคม 2539 แต่ไม่ได้ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายใน 3 เดือน นับแต่วันดังกล่าว คดีโจทก์สำหรับข้อหาความผิดนี้จึงเป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ไม่จำต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์อ้างหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาข้อต่อมาว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2534 ซึ่งโจทก์กล่าวอ้างประการแรกว่าจำลยทั้งหกร่วมกันไม่ดำเนินการบังคับขายหลักทรัพย์ของโจทก์โดยฝ่าฝืนต่อประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น ได้ความว่า อัตราส่วนระหว่างมูลค่าของหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันรวมกับทรัพย์สินที่วางเป็นประกัน หักด้วยหนี้ ต่อมูลค่าหลักทรัพย์ของโจทก์ที่วางเป็นประกันลดลงเท่ากับร้อยละ 7.0511 ต่ำกว่าร้อยละ 15 ในวันที่ 16 ตุลาคม 2539 ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกจะต้องดำเนินการบังคับขายหลักทรัพย์ของโจทก์ผู้เป็นลูกค้าในวันทำการถัดจากวันดังกล่าวตามประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.8 จำเลยทั้งหกไม่ได้ขายหลักทรัพย์ของโจทก์ในวันถัดไปด้งกล่าว โดยจำเลยที่ 1 มีหนังสือฉบับลงวันที่ 17 ตุลาคม 2539 แจ้งโจทก์ให้ชำระเงินหรือนำตั๋วเงินหรือทรัพย์สินอื่นตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดมาประกันเพิ่มเติม มิฉะนั้นจะบังคับขายหลักทรัพย์ของโจทก์ที่วางเป็นประกันไว้ตามเอกสารหมาย จ.5 แต่โจทก์มิได้วางประกันเพิ่มเติม ทั้งมิได้สั่งให้จำเลยที่ 1 ขายหลักทรัพย์ตามข้อตกลงในสัญญาตัวแทนนายหน้าและบัญชีเดินสะพัดเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 และปรากฏว่าในระหว่างนั้นได้มีข่าวสารของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเผยแพร่ไปยังสมาชิกและลูกค้าว่า ให้บริษัทสมาชิกใช้ดุลพินิจผ่อนปรนการบังคับขายหลักทรัพย์ของลูกค้าได้ตามสำเนาข่าวตลาดหลักทรัพย์เอกสารหมาย ล.2 ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ถึง 20 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยที่ 1 ได้ขายหลักทรัพย์ของโจทก์ไปโดยโจทก์ไม่ได้สั่งให้ขาย โจทก์จึงมอบให้ทนายความไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2540 โดยกล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 ขายหุ้นหรือหลักทรัพย์ของโจทก์ไปโดยโจทก์ไม่ได้สั่งขายตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.11 ตามพฤติการณ์ดังกล่าว จึงแสดงว่า โจทก์สมัครใจให้จำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนไม่ดำเนินการบังคับขายหลักทรัพย์ของโจทก์ในวันถัดจากวันที่อัตราส่วนดังกล่าวลดลงต่ำกว่าร้อยละ 15 ตามประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ในความผิดต่อพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ในกรณีนี้ไม่มีอำนาจฟ้องคดีตามข้อหาดังกล่าว และการที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงโจทก์ดังกล่าวข้างต้น แต่โจทก์ไม่ชำระเงินและไม่หาหลักทรัพย์มาประกันเพิ่มเติมตามหนังสือดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 กรรมการได้ขายหลักทรัพย์ของโจทก์ไป แม้ในขณะที่ขายหลักทรัพย์จะมีอัตราส่วนดังกล่าวลดลงอยู่ที่ร้อยละ 20 ก็เป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่า การขายหลักทรัพย์ของโจทก์เป็นผลมาจากการผิดนัดผิดสัญญาไม่ชำระเงินหรือหาหลักประกันมาวางเพิ่มเติมตามสัญญาตัวแทนนายหน้าและบัญชีเดินสะพัดระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ ประกอบกับหนังสือของจำเลยที่ 1 ที่แจ้งไปยังโจทก์เอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.5 เท่านั้น โดยไม่ได้ความว่าการขายหลักทรัพย์ของโจทก์นั้น จำเลยทั้งหกได้รับประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือได้กระทำการโดยทุจริต จึงมิใช่กรณีการเอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินของโจทก์อันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลมีหน้าที่ดูแลหรือที่อยู่ในความครอบครองของนิติบุคคลนั้น ดังที่โจทก์อ้างว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นความผิดอีกประการหนึ่งตามมาตรา 309 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 กรณีนี้เป็นการพิพาทกันทางแพ่ง ชอบที่คู่กรณีจะไปว่ากล่าวกันทางแพ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share