คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7352/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นอกจากจำเลยทั้งสองจะขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงลงจากสะพานแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ขับรถโดยฝ่าฝืนกฎจราจรอื่น หรือสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ร่วมใช้เส้นทางในการประการอื่นอีก ทั้งจุดที่เกิดการชนกันก็เป็นบริเวณช่องเดินรถตามปกติของจำเลยทั้งสองและเกิดขึ้นขณะที่ผู้ตายกำลังข้ามถนนในช่วงที่รถยนต์กำลังแล่นอยู่ ประกอบกับบริเวณที่เกิดเหตุแม้จะมีไฟฟ้าสาธารณะแต่ก็มีแสงสว่างค่อนข้างสลัว ดังนั้นแม้จะเกิดเหตุด้วยความประมาทของจำเลยทั้งสอง แต่ก็เป็นความประมาทที่ไม่ร้ายแรงนัก ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้พยายามบรรเทาความเสียหายให้แก่ฝ่ายผู้เสียหายด้วยการชดใช้เงินให้บางส่วนแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน กรณีจึงมีเหตุสมควรปราณีโดยการรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 และเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่า เหตุที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเกิดจากความประมาทของจำเลยทั้งสอง เป็นข้อเท็จจริงอันหนึ่งอันเดียวกัน จำเลยที่ 1 ได้ชดใช้เงินแก่ฝ่ายผู้เสียหายจำนวน 30,000 บาท และจำเลยที่ 1 มีอาชีพการงานเป็นหลักแหล่ง กับมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาโดยให้รอการลงโทษไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นางแฉล้ม มารดาของนายวีระผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต (ที่ถูก ต้องอนุญาตเฉพาะข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 4 ปี และปรับคนละ 15,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 7,500 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยรับโทษมาก่อน หลังเกิดเหตุจำเลยทั้งสองสำนึกผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายหาเงินมาวางศาล เพื่อชดใช้ค่าเสียหายบางส่วนให้แก่ทายาทผู้ตาย จึงเห็นควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า โทษจำคุกคนละ 2 ปี ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงให้จำเลยทั้งสองรับโทษไปโดยไม่รอการลงโทษ และไม่ลงโทษปรับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า แม้การที่จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุลงจากสะพานพระนั่งเกล้าด้วยความเร็วสูงชนผู้ตายจนถึงแก่ความตายจะเป็นการกระทำโดยความประมาทปราศจากความระมัดระวังก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงได้ความตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยทั้งสองซึ่งให้จำเลยทั้งสองดูแล้วไม่โต้แย้งคัดค้านว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นถนนมีช่องเดินรถ 6 ช่อง แบ่งเป็นช่องเดินรถไปและกลับด้านละ 3 ช่องเดินรถ จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ในช่องเดินรถช่องที่ 2 จากบางบัวทองมุ่งหน้าจะไปแคราย จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ผ่านแยกพระนั่งเกล้าโดยมีรถยนต์ตู้แล่นอยู่ด้านหน้าห่างจากรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 ประมาณ 8 ถึง 9 เมตร จำเลยที่ 1 มองไม่เห็นผู้ตายยืนอยู่ช่วงกลางถนนแต่เห็นเงาตะคุ่มผ่านหน้ารถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 ในระยะกระชั้นชิด และรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 ได้ชนผู้ตายล้มลง ขณะที่จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ตามหลังจำเลยที่ 1 และเห็นจำเลยที่ 1 ชนผู้ตายล้มลงแต่จำเลยที่ 2 ห้ามล้อไม่ทันจึงทับผู้ตายซึ่งล้มลงอยู่กลางถนน จำเลยที่ 2 รอพบเจ้าหน้าที่ตรงจุดเกิดเหตุ ส่วนจำเลยที่ 1 หมดสติ และมีผู้นำผู้ตายและจำเลยที่ 1 ส่งโรงพยาบาล ตามพฤติการณ์ดังกล่าว นอกจากจำเลยทั้งสองจะขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงขณะที่ลงจากสะพานแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ขับรถโดยฝ่าฝืนกฎจราจรหรือสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ร่วมใช้เส้นทางในประการอื่นอีก ทั้งจุดที่เกิดการชนกันก็เป็นบริเวณช่องเดินรถตามปกติของจำเลยทั้งสองและเกิดขึ้นขณะที่ผู้ตายกำลังข้ามถนนในช่วงที่รถยนต์กำลังแล่นอยู่ ประกอบกับบริเวณที่เกิดเหตุแม้จะมีไฟฟ้าสาธารณะแต่ก็มีแสงสว่างค่อนข้างสลัว ดังนั้นแม้จะเกิดเหตุด้วยความประมาทของจำเลยทั้งสองแต่ก็เป็นความประมาทที่ไม่ร้ายแรงนัก ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้พยายามบรรเทาความเสียหายให้แก่ฝ่ายผู้เสียหายด้วยการชดใช้เงินให้บางส่วนแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับจำเลยที่ 2 มีอาชีพการงานเป็นหลักแหล่ง และมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว กรณีจึงมีเหตุสมควรปรานีโดยการรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 และเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่า เหตุที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเกิดจากความประมาทของจำเลยทั้งสอง เป็นข้อเท็จจริงอันหนึ่งอันเดียวกัน จำเลยที่ 1 ได้ชดใช้เงินแก่ฝ่ายผู้เสียหายจำนวน 30,000 บาท และจำเลยที่ 1 มีอาชีพการงานเป็นหลักแหล่งกับมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาโดยให้รอการลงโทษไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยได้ แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้จำเลยทั้งสองเข็ดหลาบ จึงสมควรลงโทษปรับจำเลยทั้งสองอีกสถานหนึ่ง และกำหนดมาตรการในการคุมความประพฤติจำเลยทั้งสองไว้ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยทั้งสองคนละ 15,000 บาท อีกสถานหนึ่ง เมื่อลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับคนละ 7,500 บาท สำหรับโทษจำคุกของจำเลยทั้งสองให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยทั้งสองฟัง ให้คุมความประพฤติจำเลยทั้งสองไว้โดยให้จำเลยทั้งสองไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง มีกำหนดคนละ 2 ปี กับให้จำเลยทั้งสองกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่จำเลยทั้งสองและพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนดคนละ 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1.

Share