คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5670/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นอกจากโจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าเป็นการสบคบกันฉ้อฉลเพื่อไม่ให้โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขายตามฟ้อง โจทก์ยังฟ้องขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ ส. เจ้ามรดกได้ทำไว้กับโจทก์ด้วย จึงเป็นการที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ฟ้องร้องคดีนี้หลังจากได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกเกินกว่า 1 ปี แล้ว ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ
แม้จำเลยที่ 1 จะขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาท ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้กับโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 6022 ตำบลหนองปลาไหล อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี เนื้อที่ 2 ไร่ 48 ตารางวา ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมรับเงินค่าที่ดินที่เหลือจำนวน 27,400 บาท หากจำเลยทั้งสองเพิกเฉยให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นให้คำการ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 6022 ตำบลหนองปลาไหล อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี เนื้อที่ 2 ไร่ 48 ตารางวา ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 รับเงินค่าที่ดินที่เหลือจำนวน 27,400 บาท จากโจทก์ หากจำเลยทั้งสองเพิกเฉยให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่นายสละเจ้ามรดกได้ทำไว้กับโจทก์ด้วยจึงเป็นการที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดก ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม บัญญัติว่า ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกที่กำหนดอายุความยาวกว่า 1 ปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ฟ้องร้องคดีนี้หลังจากได้รู้ถึงความตายของนายสละเจ้ามรดกเกินกว่า 1 ปี แล้ว ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1754 วรรคสาม ดังกล่าว แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจำเลยที่ 2 จะไม่มีสิทธิยกอายุความ 1 ปี ดังกล่าวขึ้นต่อสู้คดี เพราะมาตรา 1755 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ว่า อายุความ 1 ปีนั้น จะยกขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่โดยบุคคลซึ่งเป็นทายาท หรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทหรือโดยผู้จัดการมรดก เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นทายาทของนายสละเจ้ามรดกได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาท ดังนั้นจำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิที่จะยกอายุความ 1 ปี ขึ้นต่อสู้กับโจทก์ได้ เพราะกรณีโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อาจใช้บังคับสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่รู้หรือควรได้รู้ว่าเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย หาใช่นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ขอนัดโอนที่ดินพิพาทไปยังจำเลยที่ 1 ไม่ เมื่อฟังว่าคดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องแล้ว ฎีกาข้ออื่น ๆ ของโจทก์จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยเพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share