คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4247/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาแฟ็กเตอริง บริษัทจำกัด ที่จำเลยที่ 1 นำหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องจากบุคคลภายนอกและเป็นหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระมาขายแก่โจทก์ โดยมีข้อสัญญาสรุปได้ว่าจำเลยที่ 1 จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเรียกเก็บเงินและออกใบเสร็จรับเงินแก่ลูกหนี้ในหนี้ที่จำเลยที่ 1 ขายแก่โจทก์แล้ว หากลูกหนี้นำมาชำระแก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องนำมามอบแก่โจทก์ เป็นการแสดงว่าเมื่อจำเลยที่ 1 นำหนี้รายใดมาขายแก่โจทก์แล้ว โจทก์ผู้เดียวมีอำนาจในการดำเนินการเพื่อให้ได้รับชำระหนี้ และรับชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกร้องหรือรับชำระหนี้ในหนี้รายนั้นต่อไป สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 ส่วนข้อตกลงที่ว่า หากจำเป็นโจทก์มีสิทธิใช้ชื่อจำเลยที่ 1 ในการฟ้องคดี ก็เป็นเพียงวิธีการและรายละเอียดเพื่อให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ในหนี้ที่รับซื้อไว้เท่านั้น หาทำให้สัญญาดังกล่าวไม่เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้จำนวน 2,702,930.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,670,012.24 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้ตกเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,670,012.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2540 และให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท
จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า สัญญาแฟ็กเตอริง บริษัทจำกัด เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303 และ 306 ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า ตามสำเนาสัญญาแฟ็กเตอริง บริษัทจำกัด ข้อ 8 การเก็บเงินจากลูกหนี้ โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันโดยสรุปความว่า จำเลยที่ 1 จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเรียกเก็บเงินและออกใบเสร็จรับเงินแก่ลูกหนี้ ในหนี้ที่จำเลยที่ 1 ขายแก่โจทก์แล้ว หากลูกหนี้นำเงินมาชำระแก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องนำมามอบแก่โจทก์ แสดงว่า เมื่อจำเลยที่ 1 นำหนี้รายใดมาขายแก่โจทก์แล้ว โจทก์ผู้เดียวมีอำนาจในการดำเนินการเพื่อให้ได้รับชำระหนี้ และรับชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกร้องหรือรับชำระหนี้ในหนี้รายนั้นต่อไป สัญญาดังกล่าวถือเป็นสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303 ส่วนข้อตกลงว่า หากจำเป็นโจทก์มีสิทธิใช้ชื่อจำเลยที่ 1 ในการฟ้องคดี ก็เป็นเพียงวิธีการและรายละเอียดเพื่อให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ในหนี้ที่รับซื้อไว้ ส่วนการบอกกล่าวเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องมีผลเพียงว่าหากยังไม่บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ โจทก์ไม่สามารถยกเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคหนึ่ง เท่านั้น หาทำให้สัญญาดังกล่าวไม่เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาจำนวน 10,000 บาท แทนโจทก์.

Share