คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3541/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของ ภ. ซึ่งเป็นผู้ต้องหาด้วยกันที่ให้การซัดทอดว่าจำเลยร่วมลักทรัพย์ของผู้เสียหายด้วย แต่ขณะสอบสวน ภ. อายุไม่เกินสิบแปดปี พนักงานสอบสวนไม่ได้จัดให้มีนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำด้วย เป็นคำให้การชั้นสอบสวนที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 134 ตรี ประกอบมาตรา 133 ทวิ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 6 ที่ใช้บังคับในขณะสอบสวน บันทึกคำให้การดังกล่าวจึงไม่สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 83, 335, 336 ทวิ, 357 นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 367/2545 และหมายเลขดำที่ 268/2545 ของศาลชั้นต้น และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาชิ้นส่วนและอุปกรณ์ของรถจักรยานยนต์ที่ยังไม่ได้คืน เป็นเงิน 35,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรก ขณะกระทำความผิด จำเลยอายุ 17 ปีเศษ จึงลดมาตราส่วนโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 76 กึ่งหนึ่ง จำคุก 1 ปี คำให้การในชั้นจับกุมของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 9 เดือน เมื่อคำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ นิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อม ทั้งสภาพของความผิด ประกอบกับรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดพิษณุโลกแล้ว เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดเพราะความเยาว์วัย หากได้รับการอบรมขัดเกลานิสัย ความประพฤติ น่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยยิ่งกว่าจะให้ได้รับโทษจำคุก อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104 (2) จังหวัดนครสวรรค์ มีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี ขั้นสูง 2 ปี นับแต่วันพิพากษา กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ที่ยังไม่ได้คืน เป็นเงิน 35,000 บาท แก่ผู้เสียหาย เมื่อศาลเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกอบรมจึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ให้ยกคำขอดังกล่าวและข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ให้วางเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนดและระหว่างคุมความประพฤติ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษและสิ่งมึนเมาทุกชนิด ห้ามคบหาสมาคมกับบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดี ห้ามเที่ยวเตร่ยามวิกาลและห้ามเล่นการพนัน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ของกลางที่ยึดได้มีเพียงโครงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่งมได้จากสระน้ำในหมู่บ้านฉัตรแก้ว โดยมีนายภิญโญไปนำชี้แต่ผู้เดียว โจทก์ไม่มีพยานที่รู้เห็นว่าจำเลยครอบครองหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์หรือโครงรถจักรยานยนต์ของกลางของผู้เสียหาย นอกจากคำซัดทอดของนายภิญโญตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา และคำเบิกความของสิบตำรวจโทนพดลที่ว่าจำเลยกับนายภิญโญรับสารภาพว่าร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปถอดชิ้นส่วน แล้วจำเลยนำโครงรถจักรยานยนต์ไปทิ้งที่สระน้ำในหมู่บ้านฉัตรแก้ว และจำเลยเป็นผู้แจ้งตำแหน่งที่ทิ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจด้วย ซึ่งจะรับฟังได้เพียงใดนั้น เห็นว่า บันทึกคำให้การของผู้ต้องหาที่นายภิญโญซัดทอดว่าจำเลยร่วมลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายด้วยนั้น เป็นคำให้การชั้นสอบสวนที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 134 ตรี ประกอบมาตรา 133 ทวิ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 6 ที่ใช้บังคับในขณะนั้นเนื่องจากขณะสอบสวนนั้น นายภิญโญอายุไม่เกินสิบแปดปี แต่พนักงานสอบสวนมิได้จัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำด้วย ดังนี้เอกสารดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้ มีผลทำให้ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่านายภิญโญซัดทอดว่าจำเลยร่วมลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายด้วย ส่วนคำเบิกความของสิบตำรวจโทนพดลก็เป็นเพียงคำเบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ทั้งหากจำเลยรับสารภาพเช่นเดียวกับนายภิญโญและรับว่าเป็นผู้นำโครงรถจักรยานยนต์ของกลางไปทิ้งในสระน้ำด้วยแล้ว การที่จะงมโครงรถจักรยานยนต์ของกลางได้จะต้องให้จำเลยเป็นผู้ไปชี้ตำแหน่งที่ทิ้ง หรืออย่างน้อยก็ร่วมไปกับนายภิญโญ แต่ปรากฏว่าสิบตำรวจโทนพดลกลับนำนายภิญโญเพียงคนเดียวไปชี้ทั้ง ๆ ที่นายภิญโญไม่ทราบตำแหน่งที่จำเลยทิ้งโครงรถจักรยานยนต์ ที่โจทก์นำสืบและฎีกาว่าสิบตำรวจโทนพดลเข้าใจว่านายภิญโญทราบตำแหน่ง ประกอบกับว่าขณะนั้นกำลังเจ้าพนักงานตำรวจมีน้อย จึงนำนายภิญโญไปเพียงคนเดียวเพื่อง่ายแก่การควบคุม แต่เมื่อนายภิญโญชี้ไม่ถูก สิบตำรวจโทนพดลจึงโทรศัพท์มาสอบถามจำเลยนั้น น่าจะขัดต่อเหตุผล เพราะหากมีเหตุผลความเป็นเช่นที่อ้าง สิบตำรวจโทนพดลก็น่าจะนำจำเลยซึ่งเป็นผู้ทราบตำแหน่งที่แน่นอนของโครงรถจักรยานยนต์ที่จมอยู่ไปชี้ มิใช่นายภิญโญ อย่างไรก็ตามในภาพถ่ายภาพที่ 2 มีเจ้าพนักงานตำรวจอยู่ถึง 5 คน เพียงพอที่จะควบคุมจำเลยกับนายภิญโญทั้งสองคนซึ่งเป็นเพียงเยาวชนได้ คำเบิกความของสิบตำรวจโทนพดลจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังพยานหลักฐานของโจทก์นอกจากนี้คือคำให้การรับสารภาพตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาและจับกุมตัว แต่จำเลยก็ปฏิเสธว่าลงลายมือชื่อไปโดยไม่ทราบข้อความและให้การปฏิเสธตลอดมา พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่พอให้รับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจร โดยไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษายกฟ้อง แต่ให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share