คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพฤติการณ์ที่โจทก์กับ อ. ตกลงร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทจาก ส. เมื่อถึงวันโอนโจทก์ไม่ว่างจึงให้ อ. เป็นผู้ซื้อตามสัญญาซื้อขายที่ดินเพียงผู้เดียว การจ่ายเงินค่าที่ดินโจทก์ร่วมจ่ายกับ อ. ตั้งแต่แรกคนละครึ่ง นอกจากนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับการขายที่ดินให้บริษัท ก. ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2533 โจทก์เป็นผู้เสนอขายที่ดินบริเวณแขวงตลาดบางเขน (ดอนเมือง) รวม 10 โฉนด ซึ่งรวมทั้งที่ดินแปลงดังกล่าว โดยมีข้อมูลประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับความสูงของอาคารที่จะสามารถก่อสร้างได้ ซึ่ง อ. สอบถามจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย และการขอเปิดทางเข้า – ออก ผ่านที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งโจทก์ดำเนินการร่วมกับ อ. แสดงให้เห็นว่าโจทก์และ อ. ร่วมกันซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวเพื่อขายและร่วมกันขายให้แก่บริษัท ก. จึงเข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล
การที่โจทก์และ อ. ร่วมกันจองซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวตั้งแต่ปี 2528 ซึ่งเป็นที่นาอยู่ต่ำกว่าทางรถไฟ 2.3 เมตร ไม่มีบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้าง ในราคาตารางวาละ 47,000 บาท อ. ได้รับโอนกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2533 และโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2533 แล้วร่วมกันขายต่อให้บริษัท ก. เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2533 ในราคาตารางวาละ 66,000 บาท ซึ่งเป็นการขายต่อในระยะเวลาสั้นและได้กำไรจำนวนมากโดยไม่ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าโจทก์กับ อ. มีเจตนาซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร การที่โจทก์กับ อ. ขายที่ดินให้แก่บริษัท ก. จึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรและเป็นการขายเป็นทางค้าหรือหากำไร ต้องนำรายได้จากการขายมาคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 40 (8), 56, 77 (เดิม) และ 78 (เดิม)
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่ระบุว่าบริษัท ก. เป็นผู้ชำระค่าภาษีจากการขายที่ดินทั้งหมดเป็นเพียงข้อตกลงกันระหว่างคู่สัญญาคือโจทก์กับพวกและบริษัท ก. มีผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น มิได้มีผลทำให้ความรับผิดของโจทก์ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายเปลี่ยนแปลงไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามแบบ ภ.ง.ด. 12 เลขที่ 1006050/1/105390 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2543 และแบบ ภ.ค. 80 เลขที่ 1006050/4/100018 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2543 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ สภ. 1 (อธ. 2)/2544/11 และ สภ. 1 (อธ. 2)/2544/12 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลนางสาวอรอนงค์และนางนพวรรณ (โจทก์) หรือไม่ เห็นว่า ตามคำให้การของโจทก์ที่ได้ให้ถ้อยคำต่อนางเบญจา เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของจำเลยว่า โจทก์กับนางสาวอรอนงค์ตกลงร่วมกันซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากนางสุรางค์ เมื่อถึงวันโอนโจทก์ไม่ว่างจึงให้นางสาวอรอนงค์เป็นผู้ซื้อตามสัญญาซื้อขายที่ดินเพียงผู้เดียว การจ่ายเงินค่าที่ดินโจทก์ร่วมจ่ายกับนางสาวอรอนงค์ตั้งแต่แรกคนละครึ่ง นอกจากนี้ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2533 ก็ระบุว่า โจทก์เป็นผู้เสนอขายที่ดินบริเวณแขวงตลาดบางเขน (ดอนเมือง) เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร รวม 10 โฉนด ซึ่งรวมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 1503 โดยมีข้อมูลประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับความสูงของอาคารที่จะสามารถก่อสร้างได้ เนื่องจากอยู่ในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศซึ่งนางสาวอรอนงค์สอบถามจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2533 และการขอเปิดทางเข้าออกผ่านที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งโจทก์ดำเนินการร่วมกับนางสาวอรอนงค์ตามหนังสือลงวันที่ 23 มกราคม 2533 ด้วย จึงเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นดังที่ปรากฏตามคำให้การของโจทก์ต่อนางเบญจา ดังนี้ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์และนางสาวอรอนงค์ร่วมกันซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวเพื่อขาย และร่วมกันขายไปให้แก่บริษัทการบินไทย จำกัด จึงเข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
การขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1503 ดังกล่าว ให้แก่บริษัทการบินไทย จำกัด เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรและเป็นการขายเป็นทางค้าหรือหากำไรหรือไม่ ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติตามที่โจทก์และจำเลยนำสืบรับกันว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 1503 เป็นที่นาอยู่ต่ำกว่าทางรถไฟ 2.3 เมตร ไม่มีบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้าง โจทก์กับนางสาวอรอนงค์ร่วมกันจองซื้อที่ดินดังกล่าวตั้งแต่ปี 2528 ในราคาตารางวาละ 47,000 บาท นางสาวอรอนงค์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2533 และโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2533 แล้วขายต่อให้บริษัทการบินไทย จำกัด เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2533 ในราคาตารางวาละ 66,000 บาท ซึ่งเป็นการขายต่อในระยะเวลาสั้น และได้กำไรจำนวนมากโดยไม่ได้มีการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว เห็นว่า พฤติการณ์ต่าง ๆ ข้างต้นแสดงให้เห็นว่าโจทก์กับนางสาวอรอนงค์มีเจตนาซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 1503 โดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร การที่โจทก์กับนางสาวอรอนงค์ขายที่ดินให้แก่บริษัทการบินไทย จำกัด จึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรและเป็นการขายเป็นทางค้าหรือหากำไร ต้องนำรายได้จากการขายมาคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลตาม ป. รัษฎากร มาตรา 40 (8), 56, 77 (เดิม) และ 78 (เดิม) ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินได้นำราคาซื้อขายที่ดินตามสัญญาขายที่ดินระหว่างนางสุรางค์กับนางสาวอรอนงค์จำนวน 8,000,000 บาท มาเป็นค่าใช้จ่ายต้นทุนที่ดินหักออกจากราคาขายที่ดินจำนวน 121,254,598 บาท ที่โจทก์กับนางสาวอรอนงค์ขายให้แก่บริษัทการบินไทย จำกัด เพราะเป็นเอกสารหลักฐานในการจดทะเบียนซื้อขายต่อเจ้าพนักงานที่ดินจึงถูกต้องแล้ว ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ไม่ต้องชำระภาษีเพราะตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระบุว่าบริษัทการบินไทย จำกัด เป็นผู้ชำระค่าภาษีจากการขายที่ดินทั้งหมดหรือไม่ เห็นว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินข้อ 4 เป็นเพียงข้อตกลงกันระหว่างคู่สัญญาคือโจทก์กับพวกและบริษัทการบินไทย จำกัด จึงมีผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น มิได้มีผลทำให้ความรับผิดของโจทก์ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายเปลี่ยนแปลงไป โจทก์จึงต้องชำระภาษีดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

Share