คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6353/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เปิดสถานประกอบการเพิ่มเติมโดยไม่ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อขอรับใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสาขาจังหวัดระนองตามบทบัญญัติมาตรา 85/7 วรรคหนึ่ง แห่ง ป. รัษฎากร และโจทก์มีสถานประกอบการหลายแห่งจะต้องแยกยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีเป็นรายสถานประกอบการ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรขอยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีรวมกัน แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุมัติยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีของสำนักงานสาขาจังหวัดระนองรวมกับสำนักงานใหญ่จังหวัดสงขลาตามมาตรา 83 วรรคสี่ แห่ง ป. รัษฎากร แต่อย่างใด โจทก์จึงอ้างว่าได้ยื่นเสียภาษีที่สำนักงานใหญ่จังหวัดสงขลาแล้วไม่ได้ อีกทั้งโจทก์ไม่ได้ยื่นชำระภาษีของเดือนภาษีที่ถูกประเมิน ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่สถานประกอบการสาขาจังหวัดระนองตั้งอยู่ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามมาตรา 88/6 (1) (ค) เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภายในกำหนดเวลา 10 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของสำนักงานสรรพากรจังหวัดระนองเลขที่ 11850010/5/100775, 11850010/5/100776 และ 11850010/5/100777 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2543 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ รน/33/2544 ลงวันที่ 18 กันยายน 2544
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สำนักงานสาขาที่ 2 ตั้งอยู่ที่ตำบลบางริ้น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้าขายเนื้อปู ผลิตผลจากเนื้อปู และอาหารทะเลอื่น ๆ โดยเป็นผู้ผลิตและส่งขายไปยังต่างประเทศ โจทก์ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มจำนวนสาขาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2541 สำนักงานสาขาจังหวัดระนองของโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มต่อสำนักงานสรรพากรจังหวัดระนอง และขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนเมษายน 2541 เจ้าหน้าที่สรรพากรจังหวัดระนองจึงเรียกตรวจสอบพบว่าโจทก์แจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มจำนวนสาขาจังหวัดระนองภายหลังที่ได้เปิดดำเนินกิจการมาแล้ว ถือว่าสำนักงานสาขาจังหวัดระนองของโจทก์ได้ประกอบกิจการโดยมิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้ปรับโจทก์ไปแล้ว และเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ตรวจปฏิบัติการที่สำนักงานสาขาจังหวัดระนองของโจทก์ในประเด็นภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม 2541 พบว่ายอดโอนสินค้าจากสำนักงานสาขาจังหวัดระนองมีปริมาณสูงกว่าหลักฐานที่สำนักงานใหญ่จังหวัดสงขลาได้รับ ส่วนของสินค้าที่ขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ เจ้าพนักงานประเมินถือว่าเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) (จ) แห่ง ป. รัษฎากร จึงแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามฟ้อง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยนำรายการสินค้าเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม 2541 มาประเมินภาษีเมื่อเดือนสิงหาคม 2543 เกินเวลา 2 ปี ตามบทบัญญัติของ ป. รัษฎากร มาตรา 88/6 (1) (ข) จึงพ้นกำหนดเวลาแล้ว เห็นว่า โจทก์เปิดสถานประกอบการเพิ่มเติมโดยไม่ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อขอรับใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสาขาจังหวัดระนองตามบทบัญญัติมาตรา 85/7 วรรคหนึ่ง แห่ง ป. รัษฎากร และโจทก์มีสถานประกอบการหลายแห่งจะต้องแยกยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีเป็นรายสถานประกอบการ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรขอยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีรวมกัน แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุมัติยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีของสำนักงานสาขาจังหวัดระนองรวมกับสำนักงานใหญ่จังหวัดสงขลาตามมาตรา 83 วรรคสี่ แห่ง ป. รัษฎากร แต่อย่างใด โจทก์จึงอ้างว่าได้ยื่นเสียภาษีที่สำนักงานใหญ่จังหวัดสงขลาแล้วไม่ได้ อีกทั้งโจทก์ไม่ได้ยื่นชำระภาษีของเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม 2541 ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่สถานประกอบการสาขาจังหวัดระนองตั้งอยู่ กรณีของโจทก์จึงเป็นกรณีที่โจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามความในมาตรา 88/6 (1) (ค) จึงต้องใช้กำหนดเวลา 10 ปี อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนจำเลย.

Share